คุณอยู่ที่นี่

กรุงเทพ, 13 มีนาคม พ.ศ. 2557 - กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA)ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดตัวหนังสือ "แม่วัยใส ความท้าทายการตั้งครรภในวัยรุ่น" ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริง และผลกระทบ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างรอบด้าน เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาคุณแม่วัยใสอย่างจริงจัง 
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยของประเทศไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพที่ดีขึ้น แต่กลับพบว่า จำนวนผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยทุกวันจะมีผู้หญิงจำนวน 355 คนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีคลอดบุตรในประเทศไทย และ 10 คนในจำนวนนั้นอายุน้อยกว่า 15 ปี
กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าในปี พ.ศ. 2555 มีการคลอดบุตรจำนวน 801,737 คน และจำนวน 129,451 คนเกิดจากคุณแม่อายุ 15-19 ปี ซึ่งมีจำนวน 2.4 ล้านคน นั่นหมายความว่า ผู้หญิงอายุ 15-19 ปีทุกๆ 1000 คน จะมีผู้หญิงจำนวน 54 คนในช่วงวัยเดียวกันที่กลายเป็นคุณแม่ ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นน่าตกใจเมื่อเทียบกับ 31.1 คนต่อ 1000 คนในปี พ.ศ. 2543 
ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อัตราการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี จะไม่เกิน 50 คนต่อ 1000 คนในประชากรวัยเดียวกัน
หนังสือ "แม่วัยใส ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น" ซึ่งจัดพิมพ์โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นความท้าทายต่างๆของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และมุมมองของสังคมต่อคุณแม่วัยใส รวมถึงผลกระทบในมิติต่างๆ ต่อชีวิตของผู้หญิงที่เป็นคุณแม่วัยรุ่น อาทิ แผนการศึกษาต่อของคุณแม่วัยรุ่น ซึ่งมีความจำเป็นในการเตรียมตัวสำหรับอาชีพการงานและความเป็นอยู่ในอนาคต เป็นต้น รวมถึงผลกระทบในมิติต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ และโอกาสการทำงานของเด็กผู้หญิง รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ
หนังสือแม่วัยใส ยังแสดงให้เห็นถึงสาเหตุการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า มีความซับซ้อนที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความล้มเหลวในการให้นักเรียนผู้หญิงศึกษาต่อในโรงเรียนต่อไป การไม่สามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธ์ การไม่สามารถบังคับใช้กฏหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กผู้หญิงวัยรุ่น รวมทั้งความเชื่อและทัศนคติของสังคมและชุมชนบางอย่างที่ทำให้เกิดการปฎิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย  
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามาตรการการแก้ไขปัญหาคุณแม่วัยใสมักเน้นแก้ที่ปลายเหตุ และเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กผู้หญิงอย่างเดียว มองเด็กผู้หญิงเป็นตัวปัญหา โดยไม่พิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมและปัจจัยรอบตัวที่มีผลทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ในรายงานหนังสือแม่วัยใส ได้เสนอแนะหนทางเพื่อลดแนวโน้มการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเพื่อรักษาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กผู้หญิงเหมือนกับหลายๆภูมิภาคในโลกนี้ และเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยมุ่งแก้ไขที่ต้นเหตุ อย่างเช่น ให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมให้มีการศึกษาทางด้านเพศศึกษาอย่างรอบด้านสำหรับวัยรุ่นทั้งหญิงและชาย การแก้ไขค่านิยมเหมารวมทางสังคมและทัศนคติเชิงลบบางอย่าง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกรอบกฎหมายเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิของวัยรุ่นหญิงจะได้รับการคุ้มครอง
หนังสือแม่วัยใส เป็นอีกก้าวหนึ่งที่พยายามรวบรวมข้อมูล และนำเสนอข้อเท็จจริง รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน โดยมุ่งหวังว่าหนังสือแม่วัยใส จะจุดประกายให้ทุกภาคส่วนของสังคมมาร่วมมือกันป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศให้ลดลง เพื่อให้วัยรุ่นทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างสมบูรณ์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
จีรวัฒน์ ณ ถลาง
เจ้าหน้าที่สื่อสาร กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
เบอร์โทรศัพท์ 02-687-0130 หรือ 087-506-3065
อีเมล์ nathalang@unfpa.org