Go Back Go Back
Go Back Go Back
Go Back Go Back

เพื่อนใจเรื่องรักในโรงเรียนอาชีวะ

เพื่อนใจเรื่องรักในโรงเรียนอาชีวะ

เพื่อนใจเรื่องรักในโรงเรียนอาชีวะ

calendar_today 16 March 2017

เพื่อนใจเรื่องรักในโรงเรียนอาชีวะ
เพื่อนใจเรื่องรักในโรงเรียนอาชีวะ

ดูวิดีโอเรื่องนี้ได้ ทีนี่

เชียงราย ประเทศไทย--“หนูเข้าร่วมโครงการ เพื่อนใจเรื่องรักในโรงเรียนอาชีวะ’ เพื่อเก็บประสบการณ์ สิ่งที่เรียนรู้หนูก็นำมาแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อน อย่างเช่นการใช้ถุงยางอนามัย การป้องกัน การใช้ยาคุม” ศรีนวล จันทร์คำ เล่าถึงประสบการณ์การเป็นแกนนำนักเรียนอาชีวะ ศรีนวล อายุ 16 ปี กำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยการอาชีพจังหวัดเชียงราย “หนูเห็นเพื่อนท้องไม่พร้อม  ส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียน นี่เป็นเหตุผลที่หนูเข้าร่วมโครงการนี้”

 

อัครพล รัตนจันทร์ นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย อายุ 16 ปี เล่าว่า “ผมคิดว่าความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์จะมีผลดีต่อผมคือ ผมจะสามารถไปสอนเด็กๆ และสอนเพื่อนๆ ของผมได้ แบบป้องกันถ้ายังไม่อยากมีลูก ไม่อยากท้องก็สามารถป้องกันได้หลายวิธีครับ”

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าอัตราการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นยังสูง โดยปี 2558 พบว่าจำนวนการคลอดในวัยรุ่นอายุระหว่าง 10-19 ปีอยู่ที่ 104,289 ราย หรือร้อยละ 15 ของการเกิดจากจำนวนหญิงคลอดทั้งหมดในปีนั้นที่มีจำนวน 711,805 ราย

 

โครงการพัฒนาศักยภาพอาชีวะศึกษาและเยาวชนอาชีวะศึกษาเพื่อแก้ไขการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม หรือ เรียกสั้นๆ ว่า โครงการ ‘เพื่อนใจเรื่องรักในโรงเรียนอาชีวะ’ ได้รับการสนับสนุนจาก UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ  จิราวัฒน์ แซ่อ๋อง ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “เรามองว่าอยากให้กระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กกับเด็ก เด็กกับหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนเกี่ียวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐ เรามองในเรื่องของการ การสร้างความอยากให้น้องไปเป็นแกนนำเยาวชน เราสร้างความอยากให้น้องไปสร้างกลุ่มในวิทยาลัย เราสร้างความอยากให้น้องไปเป็นวิทยากร เราสร้างความอยากให้ครูหรือผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้นะครับ”

อาจารย์อธิรัช วงศ์แสง อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคเชียงรายที่เข้าร่วมเครือข่ายภายใต้โครงการนี้อธิบายลักษณะการใช้เวลาของนักเรียนอาชีวะ “เนื่องจากอาชีวะศึกษาจะไม่เหมือนกับสายสามัญ พอเด็กมาถึงโรงเรียนๆ จะปิดไมให้ออก เข้ามาแล้วออกไม่ได้ แต่ในระดับอาชีวะศึกษา เข้ามาปุ๊ปเด็กก็เข้าออกได้ตลอดเวลา บางห้องเข้า 8 โมง บางห้องเข้า 10 โมง เลิกก็ไม่พร้อมกัน บางห้องเลิก 6 โมง บางห้องก็เลิกหนึ่งทุ่ม  เด็กก็เข้าๆ ออกๆ หอพัก ที่นี้ในระหว่างที่ว่างเด็กทำอะไร ปัญหามันอยู่ตรงนี้ที่ว่างทำอะไร ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนก็ไปใช้เวลาในหอพักเราไมสามารถที่จะควบคุมได้”

วิทยาลัยเทคนิคเชียงรายเป็นวิทยาลัยอาชีวะที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงราย มีนักเรียนมากกว่า 3,700 คน วิทยาลัยนี้มีนักเรียนหญิงเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นเท่านั้น “ส่วนใหญ่เด็กของเราเป็นผู้ชาย” อาจารย์อธิรัชกล่าว “เพราะฉะนั้นก็จะไปทำให้ผู้หญิงท้อง ซึ่งเราต้องแก้ไขปัญหา”

“พอเราพูดเรืองการท้องไม่พร้อม คนส่วนใหญ่จะเน้นไปว่าเด็กผู้หญิงเป็นคนสร้างปัญหา เป็นคนทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ แต่ถ้าเรามาดูที่เหตุของปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและการท้องเมื่อไม่พร้อม ผมมองว่าผู้ชายคือสาเหตุหลัก การสอนเขาในเรื่องค่านิยมของความเป็นสุภาพบุรุษเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ” จิราวัฒน์ กล่าว

 

นิศารัตน์ วีระนันทกุล แกนนำนักเรียนหญิงวัย 16 ปี ให้ความคิดเห็นเรื่องเพศวิถีจากมุมมองของเด็กวัยรุ่นหญิงคนหนึ่ง “หนูคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์มันไม่ใช่เรื่องผิด มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อยู่ที่ว่าเราควรจะป้องกันยังไง เราควรจะดูแลตัวเองยังไง ส่วนหนึ่งที่หนูคิดว่าเพื่อนๆ พลาดเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจ บางทีเพื่อนๆ ผู้หญิงก็ถูกกล่อมว่าไปทางนี้จะสนุกนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่อย่างที่เพื่อนๆ คิดเลยค่ะ”

จิราวัฒน์ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนอาชีวะเล่าว่าสังคมมักมองว่านักเรียนสายอาชีพนั้นมีภาพพจน์ที่โลดโผน“ผมอยากจะบอกน้องๆ ในช่วงวัยรุ่นหรือกำลังเข้าสู่วัยรุ่นว่า บางเรื่องที่คิดว่ามันผิดพลาดในชีวิตบางเรือง มันไม่ได้ผิดพลาดทั้งหมด ทุกอย่างมันสามารถเริ่มใหม่ได้ สามารถมีการเปลียนแปลงให้ชีวิตดีขึ้น แม้ว่าเราจะก้าวผิดไปหลายๆ ก้าว แต่เราสามารถจะเริ่มต้นใหม่ได้ทุกเรือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การพลาดพลั้งในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การที่้ท้องเมื่อไม่พร้อม หรือแม้แต่ยาเสพติด ถ้าวันนี้เรากลับมาเริ่มต้นใหม่ทุกคนก็ให้โอกาสครับ”