คุณอยู่ที่นี่

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคเอกชน อาทิ นิตยสาร i-like บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ชัวร์เท็กซ์ จำกัด, บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จํากัด และกลุ่มบริษัทไมเนอร์ ในงานแถลงข่าวและเสวนา "Public-Private Partnership เพื่อรักปลอดภัย" โดยมุ่งใช้ 5 ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ 2558-2562 ไขปัญหาแม่วัยใส พร้อมตั้งเป้าลดจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลง

สำหรับวงเสวนาเพื่อหาประเด็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างรักปลอดภัย นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ย้อนภาพการใช้นโยบายการใช้ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ให้ฟังว่า สร้างคุณูปการกับประเทศไทยในการป้องกันเรื่องการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ผลดีมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสังคมเปลี่ยนแปลง เยาวชนรุ่นหลังไม่ได้รับข่าวสารว่าการเป็นเอดส์นั้นมันน่ากลัว ด้วยเหตุนี้สถิติการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนเองจึงเพิ่มสูงขึ้น

"ทั้งนี้ การบอกว่าเพิ่มไม่ได้หมายความว่าตัวเลขมันเพิ่มมากเหมือนในอดีต เพียงแต่เมื่อไรที่เส้นกราฟมันเริ่มกระดกหัวขึ้น ก็ควรจะต้องจับตาดูแล้วว่า มันสามารถโยงไปเรื่องการติดเชื้อ HIV ได้ เพราะช่วงหนึ่งที่มีผู้ป่วยกามโรคเยอะๆ อัตราการติดเชื้อ HIV ก็เพิ่มขึ้นด้วยจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน วันนี้ยุทธศาสตร์ที่ 4 ของยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ‘การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ถุงยางนั้น' จึงเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐทำคนเดียวไม่สำเร็จแน่นอน เรายังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน" นพ.สุเมธให้เหตุผลถึงการหาความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน

ทางด้าน นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ให้ความเห็นว่า สมัยนี้ หากเด็กคิดจะมีอะไรกัน ก็ขอแค่ให้ป้องกันเสีย เพราะถุงยางชิ้นละ 5 บาท ยาคุมแผงละ 10 บาท ยาฉีดอาจจะเข็มละ 30-40 บาท ซึ่งแต่ละอย่างนั้น ไม่ได้แพงและหาไม่ได้ยากด้วย แต่ถามว่าทำไมถึงยังเป็นปัญหาอยู่ในบ้านเรา ตรงนี้ปัญหาไม่ได้เป็นเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจ ซึ่งข้อมูลของกรมอนามัยเอง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ครึ่งหนึ่งไม่ได้ป้องกัน อีกครึ่งหนึ่งป้องกันแต่ล้มเหลว

"ทุกวันนี้เด็กรู้หมดแล้วว่าการมีเพศสัมพันธ์กันมีโอกาสท้อง แต่สิ่งที่เรายังคงต้องทำความเข้าใจกับเด็กก็คือ การทำให้เด็กเข้าใจว่าการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ก็คือโอกาสเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็มีเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันวัยรุ่นของเราส่วนหนึ่งอยู่ในโรงเรียน ขณะที่ร้อยละ 20-30 อยู่ที่ภาคแรงงาน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข บทบาทของเราคือการให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะตอนที่เราลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเด็กๆ เขารู้ว่าต้องป้องกัน แต่พอไม่มีใครไปสอนสิ่งที่มันถูกต้อง เราเลยได้ยินความพิสดารตามแต่จะคิดขึ้นมาได้ ทั้งการใช้น้ำสบู่ฉีดล้าง การใช้น้ำส้ม แต่โชคร้ายที่ความคิดสร้างสรรค์กับประสิทธิภาพในการป้องกันไม่เข้ากัน การป้องกันจึงไม่เห็นผล" ผช.ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธ์ุให้ข้อมูล

โอกาสนี้ ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้จำนวนวัยรุ่นอายุ 10-24 ปี มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การสร้างสังคมคุณภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อวัยรุ่นจำนวนหนึ่งกลายเป็นคุณแม่และขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง ดังนั้น การลดอคติการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย และป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมจึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะต้องใส่ใจ เพราะภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือคนยังใช้ถุงยางน้อยอยู่ ทุกวันนี้จึงยังคงเห็นวัยรุ่นตั้งท้อง ติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้นในวัยที่เขายังจะต้องเรียนหนังสือ สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้ว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพเยาวชนของไทยเอง ยังเป็นเรื่องท้าทายและน่าจับตาดู

นอกจากนี้ พิธีกรสาว กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ ผู้ดำเนินการเสวนาครั้งนี้ ได้สะท้อนมุมมองของเธอด้วยว่า หน่วยงาน CSR ของบริษัทเอกชน น่าจะเข้ามามีบทบาทในการทำงานและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้เช่นกัน เพราะทุกฟันเฟืองในสังคมนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องถึงกันหมด ส่วนบทบาทของพ่อแม่เองก็สามารถสอนเรื่องเพศให้ลูกได้ ขอแค่หาวิธีพูดและสอนอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมการอาบน้ำรวมกัน ตอนที่พ่ออาบน้ำกับลูกชาย แม่อาบน้ำกับลูกสาว เขาเองก็ใช้ช่วงเวลานี้ในการคุยเรื่องเพศกัน ด้าน คุณสุกิจ อุทินทุ รองประธานกรรมการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ กลุ่มบริษัทไมเนอร์ แสดงความเห็นทิ้งท้ายถึงการร่วมมือกับภาครัฐว่า ส่วนตัวมองว่าภาคเอกชนมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือ เพียงแต่เวลาที่จะทำเรื่องรณรงค์จะต้องทำให้สนุก ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนาไปด้วยกันได้