Go Back Go Back
Go Back Go Back

ปาฐกถา หัวข้อ การส่งเสริมสุขภาพและยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่แข็งแกร่ง

ปาฐกถา หัวข้อ การส่งเสริมสุขภาพและยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่แข็งแกร่ง

Statement

ปาฐกถา หัวข้อ การส่งเสริมสุขภาพและยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่แข็งแกร่ง

calendar_today 09 August 2021

ปาฐกถา หัวข้อ การส่งเสริมสุขภาพและยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่แข็งแกร่ง

โดย

คุณ ควาบีนา อาชานเต เอ็นเทียโมอาห์

รักษาการผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทย

 

การประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพ. และอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2564

โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

9 สิงหาคม 2564

https://fb.watch/7gjyxuvWt7/


สวัสดีครับ

 

ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฯพณฯ สาธิต ปิตุเตชะ

 

ท่านอธิบดีกรมอนามัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยฃ

 

ดร. ดาเนียล เคอร์เตส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

 

และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

 

กระผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในเช้าวันนี้ น่าจะเป็นการดีถ้าผมได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับทุกท่านด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากการระบาดใหญ่ เราทุกคนได้ปรับการประชุมฯ ในครั้งนี้ให้เป็นการทำงานแบบเสมือนจริง

 

ในนามของ UNFPA ในประเทศไทย กระผมขอแสดงความยินดีกับกระทรวงสาธารณสุขสำหรับความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมสุขภาพและยุทธ์ศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม โดยการประชุมระดับชาติครั้งที่ 14 นี้เป็นหมุดหมายที่สำคัญ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในงานด้านสุขภาพ และในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จหลายประการ ได้แก่:

 

ร้อยละ 99 ของการเกิดในประเทศไทยได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะ

อัตราการตายของมารดา 21.8 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน

การคุมกำเนิดสูงที่ร้อยละ 78

ประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมมากถึงร้อยละ 99.2

และล่าสุด 'Line Official Teen Club' ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่น

 

ความสำเร็จทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องในการส่งเสริมสุขภาพของผู้ให้บริการและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ความสำเร็จยังเป็นความก้าวหน้าภายใต้กรอบการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาและประชากร หรือ ICPD

 

ทุกท่าน สองปีนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดสำหรับทุกคน ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีความทุพพลภาพและโรคเรื้อรัง ไปจนถึงผู้คนจากทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าระบบสาธารณสุขจะแข็งแกร่งแค่ไหนก็ตาม การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ในระดับปัจจุบันที่มีการขยายวงกว้าง เป็นเครื่องเตือนใจให้เราทุกคนจำเป็นต้องวางแผนให้ดีขึ้นและทบทวนระบบสาธารณสุขอย่างมีวิจารณญาณแบบองค์รวมโดยมุ่งเน้นให้บริการผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

 

UNFPA ชื่นชมประเทศไทยที่ส่งเสริมสุขภาพอย่างครอบคลุมสำหรับประชากรทุกภาคส่วน ในฐานะที่เป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับทุกๆ ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ประเทศไทยได้เน้นย้ำการส่งเสริมสุขภาพของประชากรเสมอมา รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก วัยรุ่น ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้มีความพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ไร้สัญชาติ และคนข้ามชาติ ซึ่งการระบาดใหญ่ได้แสดงให้เห็นว่าการมุ่งเน้นให้บริการคนกลุ่มนี้มีความสำคัญ

 

ในช่วงการระบาดใหญ่นี้ UNFPA ได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพโดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จัดการกับความรุนแรงบนฐานเพศสภาพ และการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนวหน้าผ่านพันธมิตรทั่วโลก ในประเทศไทย ในช่วงการระบาดใหญ่นี้ UNFPA มุ่งเน้นการสนับสนุนนโยบายสามด้าน คือสุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์ ระบบให้ความช่วยเหลือความรุนแรงบนฐานเพศสภาพ และการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกัน

 

ตัวเลขล่าสุดจากกรมอนามัยแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วถึงวันที่ 17 กรกฎาคมปีนี้ สตรีมีครรภ์มากถึง 856 คน ทั้งชาวไทยและคนต่างด้าวได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในจำนวนนี้ 15 คนเสียชีวิต มาตรการล่าสุดในการรวมหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ไว้ในรายการลำดับความสำคัญของประชากรที่จะรับการฉีดวัคซีนถือเป็นการตัดสินใจที่ดี เนื่องจากผู้หญิงไม่ได้หยุดคลอดบุตรระหว่างเกิดโรคระบาดหรือในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน การลงทุนในระบบที่สนับสนุนสุขภาพของมารดาและการคลอดบุตรอย่างปลอดภัยแม้ในช่วงวิกฤตจึงเป็นยุทธ์ศาสตร์หลักในการช่วยชีวิตและการคลอดที่ปลอดภัย ลดการเสียชีวิตของมารดาที่ป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัย UNFPA และ Reckitt จึงได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เรียกว่า 'Save Birth for All' ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อให้แน่ใจว่ามารดาชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบททางตอนเหนือของประเทศไทยได้รับบริการการคลอดที่ปลอดภัย

 

ในช่วงการระบาดใหญ่นี้ กรมอนามัยได้สังเกตว่าจำนวนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนเข้าขอรับบริการให้คำปรึกษาได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีความชุกในการคุมกำเนิดสูงถึงร้อยละ 78 ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ แต่อัตรานี้ยังต่ำในกลุ่มประชากรวัยหนุ่มสาว สถิติพบว่าวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนจากการไม่ใช้ยาคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.7 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 27.1 ในปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกันผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนอันเนื่องมาจากการไม่ใช้ยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องหรืออย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.5 เป็นร้อยละ 33.5 ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องมียุทธ์ศาสตร์เพื่อให้แน่ใจว่าคนหนุ่มสาวสามารถใช้สิทธิและทางเลือกในการวางแผนครอบครัวด้วยการตัดสินใจอย่างมีข้อมูล กรมอนามัยได้ออกนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2569 เรื่องการส่งเสริมการกำเนิดและการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริมการคลอดบุตรโดยสมัครใจซึ่งมีการวางแผนและตั้งใจการตั้งครรภ์ทุกครั้งรวมทั้งให้การสนับสนุนสตรีที่มีบุตร อย่างไรก็ตาม อาจมีความจำเป็นต้องค้นหาช่องทางการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนหนุ่มสาวและกลุ่มเสี่ยง เช่น เยาวชนชาติพันธุ์และเยาวชนที่มีความพิการ เพื่อออกแบบนโยบายที่เป็นมิตรกับพวกเขา อาจเป็นบริการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร เพศศึกษารอบด้าน และการลบล้างการตีตราจากผู้ใหญ่ รวมถึงสมาชิกในชุมชนและผู้ให้บริการ พระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่ดีสำหรับการมีส่วนร่วมนี้

 

สถานการณ์โรคระบาดมักส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนของประเทศนอกเหนือจากภาคสุขภาพ เช่น ความปลอดภัยและความมั่นคงของผู้หญิง วัยรุ่นและเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะความรุนแรงบนฐานเพศสภาพ ผู้หญิง 1 ใน 3 ทั่วโลกประสบกับความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศในช่วงชีวิตของเธอ ในประเทศไทย สถิติพบว่าจำนวนผู้หญิงที่เผชิญกับความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงนี้เกิดขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมีผู้หญิง 4,461 คนหรือผู้หญิง 149 คนต่อวันโดยเฉลี่ย UNFPA ดีใจที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลบางแห่งยังเปิดให้บริการในช่วงการระบาดใหญ่เพื่อให้แน่ใจว่าผู้รอดชีวิตสามารถเข้าถึงบริการช่วยชีวิตได้แม้ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ UNFPA มุ่งหวังที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มั่นใจว่าบริการที่สามารถช่วยชีวิตนี้สามารถเปิดให้บริการได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นทั้งในระหว่างและหลังการโรคระบาดใหญ่นี้

 

ประเด็นสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดของการสนับสนุนของเราในช่วงการระบาดใหญ่นี้คือการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกัน UNFPA ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวการศึกษาผล
กระทบ COVID-19 ต่อผู้สูงอายุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้รับผลกระทบมากที่สุดในแง่ของความยากลำบากทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่กระจายครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการแพร่ระบาดรอบปัจจุบันนี้ สถิติแสดงให้เห็นว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึงร้อยละ 66 เป็นผู้สูงอายุ ในบรรดาผู้เสียชีวิต 1,422 รายตั้งแต่เดือนเมษายน มี 356 รายที่เสียชีวิตในวัย 61-70 ปี; 305 คนในคนอายุ 71-80 ปี; และ 287 คน ในคนอายุ 51-60 ปี การแพร่กระจายเชื้อภายในครอบครัวเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ในแง่นี้ นโยบายและการส่งเสริมสุขภาพและยุทธ์ศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมอาจจำเป็นต้องมีแนวทาง มาตรการ หรือแม้แต่เครื่องมือทางการเงินพิเศษเพื่อให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุและประชากรในสภาวะที่เปราะบางโดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจฐานล่างจะปลอดภัยแม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการมุ่งเน้นนี้ ประเทศไทยซึ่งจะเป็นสังคมสูงวัยเร็วๆ นี้ จะมีมาตรการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม

 

ทุกท่านครับ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการระบาดใหญ่ในปัจจุบันกำลังสั่นคลอนความหวังและแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เราทุกคนต้องการ ขณะที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำลังพยายามฟื้นฟูให้ดีขึ้น จำเป็นต้องมีสามขั้นตอนอย่างเร่งด่วน อันดับแรก เราต้องดำเนินการทันทีเพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ของ COVID-19 และตอบสนองความต้องการของผู้ที่เปราะบางที่สุด ประการที่สอง เราจำเป็นต้องส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนโดยเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้นและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่เปราะบางที่สุด ประการสุดท้าย เราต้องจัดการกับความไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การฟื้นตัวของ COVID-19 เป็นโอกาสในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันโดยการลงทุนด้านการศึกษาและการคุ้มครองสุขภาพ รวมถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ นี่เป็นโอกาสที่จะเพิ่มพลังให้ผู้หญิงและวัยรุ่นผู้หญิง รับรองให้พวกเธอได้สิทธิที่เท่าเทียมกันและได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และลงทุนในการศึกษา การจ้างงาน และความเป็นผู้นำของคนหนุ่มสาว การลงทุนเหล่านี้สอดคล้องกับแผนความร่วมมือระหว่าง UNFPA กับประเทศไทยในอีกห้าปีข้างหน้าที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนโดยเฉพาะให้กับประชากรที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

 

แขกผู้มีเกียรติและผู้เข้าร่วมทุกท่าน กระผมขอให้คุณได้รับประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนความเห็นที่ดีที่สุดจากการประชุมในการประชุมครั้งนี้ UNFPA ยืนหยัดอย่างมั่นคงในการเป็นหุ้นส่วนและสนับสนุนประเทศไทยเพื่ออนาคตที่เข้มแข็งสำหรับทุกคน อนาคตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ขอบคุณครับ