Go Back Go Back
Go Back Go Back
Go Back Go Back

แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน

แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน
แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน

Publisher

UNFPA

Number of pages

12

Author

UNFPA Thailand

Publication

แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน

Publication date

31 October 2019

Download Icon

แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน

แผนที่ภูมิศาสตร์ – สถานการณ์ แนวโน้ม ข้อมูลแม่วัยรุ่นระดับพื้นที่

ปัญหา “แม่วัยรุ่น” เป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ในปี 2558 ภายใต้ “วาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประชาคมโลกได้ร่วมรับรองการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายนั้น คือ “การสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย” ในเป้าหมายนี้ ตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญ คือ อัตราการคลอดในวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี

สถานการณ์แม่วัยรุ่นของประเทศไทยโดยรวม ถือว่ามีแนวโน้มดี โดยอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์พบว่า ในปี 2561 อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 35 รายต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน ลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 53 รายต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน

แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น แต่ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังเป็นความท้าทายของประเทศ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีหลักแนวคิดและคำมั่นที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ดังนั้น การแก้ปัญหาแม่วัยรุ่น จำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชากรกลุ่มเสี่ยงในทุกพื้นที่ของประเทศ การบูรณาการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่เกี่ยวข้องที่มีในปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีลักษณะแยกส่วน มีจุดแข็งและข้อจำกัดของแต่ละแหล่งข้อมูลที่ต่างกัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการฉายภาพสถานการณ์ปัญหา โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ และทำความเข้าใจถึง ปัจจัยสาเหตุของปัญหาในเรื่องนี้ เป็นความท้าทายที่มีความสำคัญ

การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์หลัก

1) เพื่อส่งเสริมการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลด้านประชากรจากฐานข้อมูลต่าง ๆ

2) เพื่อสร้างข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ระบุตำแหน่งและลักษณะของแม่วัยรุ่นที่มีความเปราะบาง  และ

3) จัดทำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ ที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการดำเนินงานที่ตรงเป้า ในระดับประเทศและระดับพื้นที่และการจัดการทรัพยากรเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างเหมาะสม

ภายใต้วัตถุประสงค์ภาพรวมข้างต้น  การศึกษานี้ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

กิจกรรมที่ 1 การจัดทำแผนที่การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของอัตราการคลอดในวัยรุ่นในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ และ

กิจกรรมที่ 2 การวิเคราะห์ลักษณะทางประชากรเศรษฐกิจและสังคมของแม่วัยรุ่น

สถานการณ์แม่วัยรุ่นในระดับจังหวัด

ภายใต้กิจกรรมที่ 1 ในการจัดทำแผนที่การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของอัตราการคลอดในวัยรุ่น การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากฐานการจดทะเบียนการเกิดปีพ.ศ. 2561 และสำมะโนประชากรและเคหะปีพ.ศ. 2543 และ 2553 ประกอบกับข้อมูลประชากรกลางปีจากฐานทะเบียนราษฎร์ เพื่อคำนวณอัตราการคลอดของหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ

การคำนวณสถานการณ์การคลอดของหญิงวัยรุ่นในทุกจังหวัดและอำเภอของประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลจากฐานทะเบียนเกิดนี้ ได้ปรับที่อยู่ในการจดทะเบียนการเกิดให้เป็นไปตามที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้เป็นแม่ เนื่องจากฐานข้อมูลเดิมเป็นข้อมูลที่สะท้อน “สถานที่คลอด” ไม่ใช่ที่อยู่ตาม “ทะเบียนบ้าน” ซึ่งการปรับข้อมูลที่อยู่ช่วยให้สะท้อนสถานการณ์รายจังหวัดและอำเภอได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ผลการวิเคราะห์สถานการณ์การคลอดในวัยรุ่นจากฐานทะเบียนเกิดในปี 2561 แสดงให้เห็นว่า เมื่อปรับที่อยู่ให้เป็นไปตามทะเบียนบ้านของแม่แล้ว มีความแตกต่างในสถานการณ์การคลอดในวัยรุ่นในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดชลบุรีที่เคยเป็นอันดับ 3 ในอัตราการคลอดของวัยรุ่นก่อนการปรับข้อมูลที่อยู่ (50.1 ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน)  เมื่อปรับข้อมูลให้สะท้อนที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของแม่ พบว่า จังหวัดชลบุรีกลายเป็นอันดับ 58 ของประเทศ (32.1 ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน) การปรับข้อมูลให้สะท้อนที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของแม่วัยรุ่น มีความสำคัญอย่างมากในการสะท้อนให้เห็นพื้นที่เสี่ยงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายในระดับพื้นที่

อีกแหล่งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์สถานการณ์การเป็นแม่วัยรุ่นในแต่ละจังหวัด/อำเภอ คือ การสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชากรทุกคนในประเทศไทยตามที่อยู่อาศัยจริงในห้วงเวลาของการสำรวจ จากปี 2553 พบว่า กลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พบว่า ในกลุ่มประชากรที่มีสัญชาติไทย อัตราการเป็นแม่วัยรุ่น เท่ากับ 59.8 ต่อ ประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ขณะที่ในกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย มีอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่ามาก ที่ 79.4 เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์จากสำมะโนประชากรและเคหะ ในปี พ.ศ 2543 พบว่า อัตราการเป็นแม่วัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประชากรหญิงที่มีสัญชาติไทย  แต่ลดลงในกลุ่มประชากรหญิงที่ไม่ใช่สัญชาติไทย โดยมีอัตราเท่ากับ 39.9 และ 100.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ตามลำดับ

การวิเคราะห์ข้อมูล 2 ช่วงเวลาของสำมะโนฯ สามารถฉายภาพให้เห็นสถานการณ์ระดับจังหวัดโดยแบ่งกลุ่มจังหวัดได้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ จังหวัดที่มีอัตราการเป็นแม่วัยรุ่นสูงต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา) จังหวัดที่เคยมีอัตราที่ต่ำแต่สูงขึ้น เคยมีอัตราที่สูงแต่ต่ำลง และจังหวัดที่มีอัตราที่ต่ำต่อเนื่อง

สถานการณ์แม่วัยรุ่นในระดับอำเภอ

เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์แม่วัยรุ่นในระดับอำเภอ การศึกษานี้พบความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำในแต่ละจังหวัด หลายจังหวัดที่มีอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นอยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของประเทศ เช่น เชียงใหม่ ที่อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นในจังหวัดอยู่ที่ 33.3 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมองในระดับอำเภอจะพบว่ามีหลายพื้นที่ภายในจังหวัดที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง เช่น ในอำเภออมก๋อย ที่มีอัตราการคลอดวัยรุ่นสูงถึง 66.1 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน การมองสถานการณ์ในระดับจังหวัดจึงไม่เพียงพอ เนื่องจากอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงบางแห่งถูกละเลยได้ การวิเคราะห์ในระดับอำเภอพบว่า อำเภอที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นสูงเป็นอันดับต้น ๆ มักเป็นอำเภอที่อยู่ตามชายแดน หรือห่างไกลจากเขตเมืองของแต่ละจังหวัด โดยอำเภอเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่มีอัตราการคลอดสูงเสมอไป

ติดตามอ่านสรุปรายงานในรูปแบบ infographic ได้ ที่นี่