17 พฤศจิกายน 2563—กรุงเทพฯ--จากผลการสำรวจผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทยซึ่งดำเนินการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยความร่วมมือระหว่างกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA ) ประจำประเทศไทย และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าผู้สูงอายุที่ทำแบบสำรวจประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านสุขภาพ โดยผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่ามีรายได้ไม่เพียงพอในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และ สัดส่วนของผู้สูงอายุที่มีรายได้หลักจากการทำงานลดจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น
จากผลการสำรวจ ผู้สูงอายุที่ทำงานในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 81 ประสบอุปสรรคในการทำงานในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยในสัดส่วนดังกล่าว ร้อยละ 36 สูญเสียอาชีพ พื้นที่ค้าขาย หรือถูกปรับลดเงินเดือน โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานมากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีรายได้จากการทำงาน บุตร และดอกเบี้ยเงินออม ลดลงในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีกด้วย
ในด้านสุขภาพ ร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุระบุว่าตนเองมีอาการทางสุขภาพจิตอย่างน้อยหนึ่งอาการ เป็นบางครั้งหรือตลอดเวลาในช่วงระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งได้แก่ วิตกกังวล (ร้อยละ 57.2) ไม่อยากอาหาร (ร้อยละ 47.3) เหงา (ร้อยละ 25) และ ไม่มีความสุข (ร้อยละ 23.3) สัดส่วนดังกล่าวทั้งหมดแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างผู้สูงอายุชายและหญิง แต่มีค่าสูงกว่าสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเมื่อเปรียบเทียบกับเขตชนบท นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มที่จะมีอาการเหงามากกว่าผู้สูงอายุที่มีลักษณะการอยู่อาศัยในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดระบุว่าได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จาก โทรทัศน์/วิทยุ และสมาชิกในครอบครัว
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า“นโยบายและมาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ควรต้องคำนึงถึงประชากรสูงอายุที่ยังต้องการทำงานและพึ่งพารายได้จากทำงานในการดำรงชีวิต โดยการสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องเชิงนโยบายในหลายระดับเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาวิกฤตด้วยเช่นกัน”
ดร.วาสนา อิ่มเอม หัวหน้าสำนักงาน UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยย้ำว่า “เช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ในสังคม ผู้สูงอายุมีสิทธิตามสิทธิมนุษยธรรมทุกเรื่อง รวมถึงในช่วงเวลาระบาดใหญ่โควิด-19 นี้ด้วย ไม่ควรคิดว่าการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุเป็นภาระ เพราะผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลที่สร้างคุณค่าและมรดกทางสังคม การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุจึงควรมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่มต่างๆ ของครอบครัวและสังคมภายใต้แนวทาง “สังคมอารีจากคนหลากหลายรุ่น” (intergenerational society) โดยแนวทางนี้จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและวัยสูงอายุเอง ได้มีโอกาสช่วยกันเติมเต็มบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุและดูแลซึ่งกันและกัน และยังเป็นแนวทางที่สนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจสู่สังคมที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังอีกด้วย”
ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ว่าประชากรในทุกกลุ่มอายุต่างมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แต่จากหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงและการเสียชีวิตนั้นเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นด้วย ดังนั้นประเทศที่มีโครงสร้างประชากรสูงวัยจึงมีโอกาสที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างประชากรสูงวัยในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ร้อยละ 19.2 ของประชากรไทยหรือของประชากรทั้งหมด 12 ล้านคนมีอายุมากกว่า 60 ปี โดยทุกๆ 1 ใน 10 ของผู้สูงวัยเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี ผู้สูงอายุจำนวนประมาณ 1.9 ล้านคนหรือร้อยละ 16 ของผู้สูงอายุทั้งหมดอยู่ในภาวะสุขภาพไม่แข็งแรง โดย 1 ใน 8 หรือ ประมาณ 252,000 คน ของผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ระบุว่ามีสุขภาพไม่ดีมาก ผู้สูงอายุบางคนเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้งโดยสมาชิกในครอบครัวโดยไม่มีการรายงานต่อเจ้าหน้าที่
แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ร้อยละ 16 มาจากลูก ร้อยละ 22 มาจากการหารายได้ด้วยตนเอง มีเพียงผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีรายได้จากการออมหรือมีทรัพย์สิน และได้รับบำเน็จบำนาญ ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุอาจได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นได้หากพวกเขาไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยโดยเฉพาะในครัวเรือนที่พวกเขาต้องพึ่งพารายได้ของลูก และถ้าลูกๆ ของพ่อแม่ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะตกงานจะทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจหนักมากขึ้น
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการสำรวจ
การสำรวจ ผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย ดำเนินการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA ) ประจำประเทศไทย และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,230 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทภายใน 9 จังหวัด และ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.7 สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ (ป.4-6) ร้อยละ 63.7 มีสถานภาพสมรส และมีจำนวนบุตรที่ยังมีชีวิตเฉลี่ย 2.8 คน
ในด้านสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.2 ทำงานในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 94 ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ร้อยละ 45 มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 20,000 บาท และร้อยละ 46.6 รายงานว่ามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19
ลักษณะการอยู่อาศัย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67 อาศัยอยู่กับบุตรอย่างน้อย 1 คน ร้อยละ 5.5 อาศัยอยู่ตามลำพัง และร้อยละ 12 อาศัยอยู่กับคู่สมรสเท่านั้น
อ่านบทสรุปผู้บริหารและอินโฟกราฟฟิกเกี่ยวกับการสำรวจได้ที่ https://thailand.unfpa.org/th/covid-op หรือ