คุณอยู่ที่นี่

การสำรวจ ผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อประชากรสูงอายุในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 นับว่าเป็นการสำรวจครั้งแรกที่มุ่งเน้นผลกระทบในกลุ่มประชากรสูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีการเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ ประชากรกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจครั้งนี้ได้แก่ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเก็บรวบรวมข้อมูลสถานภาพทางเศรษฐกิจ รูปแบบการอยู่อาศัย สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ทั้งในช่วงก่อนและระหว่างการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งประเมินความรู้ความเข้าใจ การปฏิบัติตน และแหล่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกด้วย ถึงแม้ว่ามาตรการปิดพื้นที่จะเริ่มผ่อนคลายในช่วงเริ่มต้นเก็บข้อมูล แต่ด้วยข้อแนะนำให้หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า ประกอบกับการประเมินข้อดีและข้อเสียของวิธีการเก็บข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ผู้วิจัยจึงได้ตัดสินใจเลือกใช้การสร้างแบบสำรวจออนไลน์โดยใช้กูเกิลฟอร์ม การสุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มเลือกตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน โดยได้ทำการส่งแบบสอบถามไปยังผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ตัวอย่างผ่านโปรแกรมส่งข้อความไลน์ ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้สูงอายุอยู่อาศัยเพียงลำพัง อยู่ในภาวะเปราะบาง อยู่ในภาวะพึ่งพิง อ่านไม่ออกหรือเขียนไม่ได้ ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต ภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ผู้สูงอายุ โดยมีแบบสอบถามทั้งหมดที่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,230 ราย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทภายใน 9 จังหวัด และ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย

อ่านผลการสำรวจเต็ม (ภ.อังกฤษ) ได้ ที่นี่

อินโฟกราฟฟิกสรุปผลสำรวจผลกระทบโควิดต่อผู้สูงอายุ