Go Back Go Back
Go Back Go Back
Go Back Go Back

คลี่ครอบครัวไทย 4.0

คลี่ครอบครัวไทย 4.0

คลี่ครอบครัวไทย 4.0

calendar_today 11 April 2017

“คลี่ครอบครัวไทย 4.0” ซึ่งภาพรวมของครอบครัวไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 พบว่า ปัจจุบันครอบครัว3รุ่น คือ พ่อแม่-ลูก-ปู่ย่า/ตายาย ถือเป็นครอบครัวประเภทหลักของไทย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในชนบท

ส่วนครอบครัวพ่อแม่ลูก จากที่เคยเป็นประเภทหลักก็ลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่ครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูก เพิ่มขึ้น 3 เท่าโดยเพิ่มมากในเขตชนบทสูงกว่าในเมือง ส่วนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ในเชิงสถิติสัดส่วนลดลงแต่ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 970,000 ครัวเรือน เป็น 1.37 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ ยังพบรูปแบบครอบครัวที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวที่ไม่ใช่ญาติ

น.ส.ณัฐยา บุญภักดีเจ้าหน้าที่บริหารแผนงาน UNFPA ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของครอบครัวไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 พบว่า รูปแบบครอบครัวไทยในปัจจุบัน ทั้งสิ้น 7 ประเภท ดังนี้ อันดับ 1 ครอบครัวสามรุ่น 37% อันดับ 2ครอบครัวพ่อแม่ลูก 27% อันดับ 3 คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร 16% อันดับ 4 ครัวเรือนอยู่คนเดียว 14% อันดับ 5 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 7% อันดับ 6 ครัวเรือนข้ามรุ่น 2% และอันดับ 7 ครัวเรือนที่ไม่ใช่ญาติ 1% ซึ่งมีความเป็นชุมชนแบบหนึ่ง ทั้งชุมชนของเพื่อนฝูง หรือคนที่ไม่ใช่ญาติ แต่มีสายสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ผลสำรวจสถานการณ์ครอบครัวไทย โดยศูนย์วิจัยด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย หรือ ยูเอ็นเอฟพีเอ ไทยแลนด์ (UNFPA Thailand) และคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ม.สงขลานครินทร์ ได้เปิดผลการสำรวจความเห็นแบบออนไลน์ ของตัวแทนเยาวชนทั่วประเทศ อายุระหว่าง 15-24 ปี จำนวน 824 คน สะท้อนว่าครอบครัวในความหมายของเยาวชน พบว่า อันดับ 1 คือ ความรัก/ผูกพันต่อกัน 41% รองลงมา การอยู่ร่วมกัน 29% การมีงานทำ/มีรายได้ของหัวหน้าครอบครัว 15% และการให้การศึกษาแก่สมาชิก 15%

ส่วนเรื่องที่นึกถึงในวันครอบครัวมากที่สุด 45% คือความสุข รองลงมา 40% นึกถึงการไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน เมื่อถามถึงความเข้มแข็งของครอบครัว พบว่า สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ครอบครัวมีความเข้มแข็งมาก 52% ความอบอุ่นอยู่ในระดับมาก 52%  แต่ก็ยังพบว่าเยาวชน 10% ครอบครัวไม่เข้มแข็งและไม่อบอุ่นเลย

ส่วนความสุขเมื่อได้อยู่กับครอบครัว 83% มีความสุขมาก เช่นเดียวกับ 92% เยาวชนรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้อยู่กับครอบครัว สำหรับลักษณะครอบครัวที่เยาวชนต้องการ อันดับ 1 คือ ความรักต่อกัน 24% อันดับ 2 การมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน และไม่ทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรง 22% อันดับ 3 มีบ้าน ที่อยู่เป็นของตนเอง 20%

เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ระบุว่าสิ่งที่เยาวชนต้องการจากครอบครัวไทยมากที่สุด ซึ่งหากดูจากการใช้เวลาของประชากรไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวดีขึ้น จาก 2 ชั่วโมง เป็นเกือบ 3 ชั่วโมงซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือให้ 3 ชั่วโมงนี้กลายเป็นเวลาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว สร้างความเข้าใจกันในแต่ละช่วงวัย มีการสื่อสารทั้ง 2 ทาง โดยเฉพาะเด็กเล็กต้องดูแลใกล้ชิดและเหมาะสมซึ่งจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันแก่เด็กเมื่อโตขึ้น

 

อิทธิพล ทองแดง

สอดคล้องกับผลลัพธ์ได้จากเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการของตัวแทนเยาวชน 91 คนใน 21 จังหวัด ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง “ครอบครัวไทยในมุมมองเยาวชน” ซึ่ง ทิว-  อิทธิพล ทองแดง ประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.อุบลราชธานี แจกแจงว่า เด็กและเยาวชนชอบมากที่สุด คือ การที่ครอบครัวได้ใช้เวลาและทำกิจกรรมอยู่ด้วยกัน ความเข้าใจและรับฟังปัญหา ให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเรียน ความรัก ขณะที่ปัญหาการหย่าร้าง การแยกทางของพ่อแม่ เป็นเรื่องที่เด็กและเยาวชนไม่อยากให้เกิด แต่ก็มักพบบ่อยๆ เพราะปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อความรู้สึกของลูก และถูกสังคมตีตราว่าเป็นเด็กมีปัญหา

รวมถึงความรุนแรงในครอบครัวจากการทะเลาะ ใช้ถ้อยคำรุนแรง ประชดประชัน ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล โดยเฉพาะการทะเลาะแบบเงียบงัน ที่เกิดจากการทะเลาะกันเป็นเวลานานไม่มีการพูดคุยกัน ตรงนี้ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด และสาเหตุหลักที่ทะเลาะเกิดจากพ่อดื่มสุรา บางครอบครัวรุนแรงถึงขั้นพ่อต้องออกจากงาน รองลงมา เป็นปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ติดการพนัน และการนอกใจ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงสภาพการเกี่ยงกันดูแลผู้สูงอายุและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

 “สิ่งที่เยาวชนอยากเห็น เพื่อช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพคือ การมีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น การแสดงความรัก ความอบอุ่นต่อกัน บางครอบครัวอยู่ด้วยกันแต่ก้มหน้าหาแต่สมาร์ทโฟน ไม่สบตากัน ซึ่งเยาวชนและพ่อแม่ต้องลดเวลาการใช้ไลน์ (Line) เพิ่มเวลาระหว่างกันในครอบครัวให้มากขึ้น และสิ่งที่เยาวชนคาดหวังจากชุมชนและสังคมรอบข้าง คือ ลดการนินทา จ้องจับผิด ทำให้ถูกนำมาเปรียบเทียบ ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้การศึกษาฟรีอย่างแท้จริง เพื่อลดภาระของครอบครัว ที่สำคัญอยากให้เปิดโอกาสคุณแม่วัยใสให้มีโอกาสทางการศึกษา มีอาชีพ และมีที่ยืนในสังคม”อิทธิพล ฝากข้อเสนอแนะ

เสาวลักษณ์ พูนสวัสดิ์

ขณะที่ ครีม-เสาวลักษณ์ พูนสวัสดิ์ เครือข่ายสภาเด็กเทศบาลตำบลฉลุง จังหวัดสตูล สะท้อนมุมมองเรื่องครอบครัว ว่า หลายคนคิดว่าการที่ครอบครัวมีพ่อแม่ ลูก พร้อมหน้าตาจึงจะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันครอบครัวไทยไม่ใช่แบบที่นิยามไว้ส่วนตัวก็เคยมีครอบครัวที่สมบูรณ์ จนกระทั่งพ่อแม่แยกทางกัน ชีวิตเปลี่ยนผันทุกอย่าง มีหนี้จากการกู้นอกระบบ จนแม่ต้องออกจากงานแม่บ้านไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนเธอก็อยู่กับน้องชายที่กำลังเข้าเรียนม.1  พี่สาวมีป้ารับไปอุปการะ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าครอบครัวไม่อบอุ่น หรือไม่สมบูรณ์ เพราะในปัญหาที่เจอก็ยังมีเรื่องดีๆ เพราะมีคนรอบข้างที่ดีให้คำแนะนำ เป็นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกันไม่ได้รู้สึกขาด

 “ปัญหาชีวิตที่เจอเหมือนแรงผลักดัน สอนให้เราอยู่ในโลกความเป็นจริงได้อย่างเข้มแข็ง เรียนรู้ที่จะปรับตัวเช่นทุกวันนี้ไปเรียนหลักสูตรพยาบาลระยะสั้นก็ทำงานด้วยและเรียนกศน.เพื่อให้จบม.ปลาย เงินที่ได้จากการทำงานก็ดูแลตัวเอง ดูแลน้องชายและไว้สำรองจากเงินที่แม่ส่งกลับมา เพราะฉะนั้นแล้ว การที่เราสร้างพลังให้ตนเอง อยู่กับปัจจุบันไม่คาดหวัง แสดงความรักและน้ำใจต่อกันก็เป็นสิ่งที่จะสร้างความเป็นครอบครัวได้เช่นกัน”ครีม กล่าว

วีระพล แก้วพันธุ์อ่ำ

ขณะที่ วีระพล แก้วพันธุ์อ่ำ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่ามีพี่น้อง 2 คนชีวิตก็ย้ายไปอาศัยกับตา ปู่ และป้าหมุนเวียนไปมาแต่เด็กจนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย จึงมาอยู่ข้างนอก ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ น้องสาวกลายเป็นคุณแม่วัยใส และกลายเป็นว่าถูกกีดกันจากสังคมโดยตีค่าว่าเป็นคนไม่ดี

เพราะฉะนั้น อยากฝากไปถึงระดับผู้กำหนดนโยบายว่า การกำหนดนโยบายเรื่องครอบครัวใดก็ตาม ต้องไม่หลุดไปจากวิถีคนไทย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นนโยบายไร้ราก  ไม่สะท้อนความเป็นจริง และเข้าไม่ถึงครอบครัวคนไทยที่มีความหลากหลาย ต้องมีการวางแผนเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องทำได้จริง ตลอดจนส่งเสริมและสร้างบรรยากาศครอบครัวที่มีความเข้าใจกันทุกช่วงวัย ที่สำคัญควรมีการสื่อแบบสองทางด้วย

ที่มาของข่าว: คม ชัด ลึก 

ติดตามอ่าน รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน ได้  ที่นี่

อินโฟกราฟฟิคสรุปสาระสำคัญรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน