คุณอยู่ที่นี่

ผู้สูงอายุในช่วงสถานการณ์การระบาด COVID-19

เมื่อโลกต้องประสบกับการระบาดหนักของ COVID-19 ไม่เว้นแต่ประเทศไทย ทุกกลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า คนทำงานส่วนใหญ่ต้องทำงานจากที่บ้านในขณะที่ต้องดูแลลูก ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง และผู้สูงอายุไปด้วยในเวลาเดียวกัน    

กลุ่มผู้สูงอายุ คือหนึ่งในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงของการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีอาการข้างเคียงมากเมื่อติดเชื้อไวรัสเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่น ซึ่งอาจจะนำไปสู่อาการป่วยที่มากขึ้นและเป็นอันตรายถึงชีวิต         

ในฐานะสมาชิกหนึ่งของครอบครัวและสังคมเราจะปฏิบัติตัวอย่างไรในขณะที่ตัวเราเองก็ได้รับทั้งผลกระทบด้วยและต้องทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุไปด้วย

เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของสหประชาชาติที่ให้ความสำคัญต่อแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ (The Madrid International Plan of Action on Ageing) ด้วยการกำหนดเป้าหมายหลักของการพัฒนาผู้สูงอายุใน 3 ประเด็น คือ ผู้สูงอายุกับการพัฒนา (Older persons and development) สูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ (Advancing health and well-being into old age) และการสร้างความมั่นใจว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสม (Ensuring enabling and supportive environment) ในทิศทางการดำเนินงานด้านผู้สูอายุไทย

เพื่อส่งเสริมแนวทางดังกล่าว UNFPA ขอสนับสนุนแนวทางเพิ่มเติมในการดูแลและส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนเราดังนี้

  • เช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ในสังคม ผู้สูงอายุมีสิทธิตามสิทธิมนุษยธรรมทุกเรื่อง ซึ่งรวมไปถึง การได้รับการดูแลและรักษาสุขภาพอนามัย ได้รับการศึกษา มีงานทำ มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง มีสิทธิจะได้รับประโยชน์ ทางการศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา นันทนาการ ของสังคมอย่างเหมาะสม และมีส่วนร่วมในสังคมตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมทั้งมีสิทธิที่ จะได้รับอาหาร น้ำ ที่พักอาศัย เครื่องแต่งกายที่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยและดำรงชีพ ได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์อย่างปลอดภัย และได้รับการคุ้มครองป้องกัน ได้รับการฟื้นฟูสุขภาพ และส่งเสริมทางด้านสังคมและจิตใจในสภาพแวดล้อมที่มั่นคง เพื่อให้สามารถดำรงสภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งรวมถึงการป้องกันโรค
     
  • COVID-19 นี้ ทุกคนในสังคมควรตระหนักถึงสิทธิการได้รับการป้องกันโรค การดูแลและรักษาสุขภาพอนามัย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการดำเนินมาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม”(social distancing)ก็ตาม ผู้สูงอายุก็ยังคงมีสิทธิและต้องการการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งในช่วงเวลานี้ อาจจะมีรายการที่ให้ข้อมูล สาระและความบันเทิงโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เหงาเพราะห่างกายและห่างไกลกัน
     
  • ไม่ควรคิดว่าการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุเป็นภาระ เพราะผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลที่สร้างคุณค่าและมรดกทางสังคมให้กับเรา การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุจึงควรมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่มต่างๆ ของครอบครัวและสังคม ภายใต้แนวทาง “สังคมอารีจากคนหลากหลายรุ่น” (intergenerational social support) โดยแนวทางนี้จะเปิดโอกาสให้คนรุ่นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและวัยสูงอายุเอง ได้มีโอกาสช่วยกันเติมเต็มบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุและดูแลซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางที่สามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจสู่สังคมที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังอีกด้วย

ดร.วาสนา อิ่มเอม รักษาการหัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในช่วงการระบาด COVID-19 ว่า “ช่วงเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการรณรงค์ ขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่กับบ้านเพื่อลดการปนเปื้อนและลดการแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิดในขณะนี้ ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่สมาชิกครอบครัวได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา โดยราวครึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดกว่า 21 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยมีผู้สูงอายุเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ด้วยกับผู้อื่นในครัวเรือน จึงนับเป็นโอกาสที่คนต่างวัยต่างรุ่นโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะได้มีโอกาสให้การดูแลช่วยเหลือ จัดหาอาหารและดูแลความเป็นอยู่ สื่อสารสนทนาทำความเข้าใจกับผู้สูงอายุในบ้าน นับเป็นการเตรียมพร้อมต่อการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประชากรไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี ในวาระวันผู้สูงอายุปีนี้จึงขอเชิญชวนประชากรไทยให้เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เริ่มจากการดูแลผู้สูงอายุในบ้านและครอบครัวของแต่ละคน แม้จะดูแลผู้สูงวัยแบบเว้นระยะห่างทางกายภาพแต่ก็ช่วยลดช่องว่างการสื่อสารระหว่างวัยได้ เพื่อให้สังคมไทยเข้มแข็งสามารถผ่านพ้นจากภาวะวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้สูงอายุและความเสี่ยงระหว่างการระบาด COVID-19 ในบริบทของประเทศไทย:

  • 18% ของประชากรไทยหรือของประชากรทั้งหมด 12 ล้านคนมีอายุมากกว่า 60 ปี โดยทุกๆ 1 ใน 10 ของผู้สูงวัยเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี
  • ผู้สูงอายุจำนวนประมาณ 1.9 ล้านคนหรือ ร้อยละ 16 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีสุขภาพไม่ดี  โดย 1 ใน 8 ของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงคิดเป็นจำนวนประมาณ 252,000 คนรายงานว่ามีสุขภาพไม่ดีมาก
  • ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีฐานะคนจน ผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำพังไม่มีผู้ดูแล และผู้ที่ขาดการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจสังคมและครอบครัว
  • เราต้องส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีระหว่างประชากรต่างวัยเพื่อลดการตีตราและการโดดเดี่ยวผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของบุคคลเหล่านี้
  • ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (75.7%) ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และประมาณ 11% ที่ไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ และนี่อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์คือผู้หญิงสูงวัยมีจำนวนมากกว่าผู้ชายสูงวัยถึงสองเท่า ด้วยสถิติดังกล่าว ผู้สูงอายุบางคนอาจมีปัญหาบางอย่างในการทำความเข้าใจกับเอกสารสื่อสารสนเทศด้านการศึกษาและการสื่อสาร (IEC) ที่ใช้สื่อสารกับผู้สูงอายุ เราจึงจำเป็นต้องปรับเนื้อหาในสื่อ IEC ตามความต้องการของผู้สูงอายุและให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและบริบทท้องถิ่น
  • ผู้สูงอายุประมาณ 600,000 คนหรือ ราวร้อยละ 5 ของผู้สูงอายุทั้งหมดต้องการความช่วยเหลือในการทำงานประจำวันที่จำเป็น
  • ในขณะที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระได้ อีกประมาณร้อยละ 7 หรือมีจำนวนสูงถึง 840,000 คนไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ด้วยตนเอง การใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุไม่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากการขับถ่าย
  • ประมาณร้อยละ 63 ของผู้สูงอายุไทยมีสถานะสมรสและอาศัยอยู่กับคู่สมรส ประมาณ 1 ใน 3เป็นม่าย หย่าร้างหรือแยกจากคู่สมรส และผู้สูงอายุเกือบ 500,000 คนเป็นโสดไม่เคยแต่งงาน โดยผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีสถานภาพสมรสเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 88.9 ยังคงดูแลตนเองได้ โดยที่เหลืออีกจำนวน 1.3 ล้านคนต้องมีผู้ดูแลเพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยร้อยละ 76 ของผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุนั้นเป็นผู้หญิง จึงมีความสำคัญว่าจะทำอย่างไรผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจะสามารถมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการให้การดูแลผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงมาตรการการป้องกันความเสี่ยงที่อาจนำเชื้อโควิดถ่ายทอดไปยังผู้สูงอายุ พร้อมทั้งคำนึงถึงการดูแลที่ไม่โดดเดี่ยวผู้สูงอายุให้แยกตัวอยู่ตามลำพัง
  • ผู้สูงอายุบางคนเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้งโดยสมาชิกในครอบครัว โดยไม่มีการรายงานต่อเจ้าหน้าที่
  • แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุมาจากบุตร (37%) และจากการจ้างงาน / การหารายได้ด้วยตนเอง (34%) มีผู้สูงอายุเพียง 4% เท่านั้นที่มีรายได้จากการออมหรือมีทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุอาจได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นได้หากพวกเขาไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยโดยเฉพาะในครัวเรือนที่พวกเขาต้องพึ่งพารายได้ของลูก และซ้ำร้าย ลูกๆ ของพ่อแม่ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะตกงาน
  • บริการสายด่วน 1300 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้การสนับสนุนความรุนแรงในครอบครัวซึ่งรวมถึงการทำร้ายสมาชิกในครอบครัวที่รวมถึงผู้สูงอายุด้วย

ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการดูแลใส่ใจผู้สูงอายุในช่วงการระบาด COVID-19 ผ่านกิจกรรม #ต่างวัยดูแลใจกัน ที่ทาง UNFPA ร่วมกับ Thai PBS และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยได้ที่ https://www.csitereport.com/ หรือ https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/817106975365987/