คุณอยู่ที่นี่

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ประจำประเทศไทย ร่วมงาน “Bangkok Pride Festival 2024” เนื่องในเดือนความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ขับเคลื่อนร่วมกับทีมสหประชาชาติในประเทศไทย พันธมิตรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน พ.ศ.2567 ที่กรุงเทพมหานคร โดยธีมหลักของงานในปีนี้คือ Celebrations of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม 


ขบวนพาเหรด UN ประจำประเทศไทย  คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และคุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศคือสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิในการได้รับโอกาส และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและมีเกียรติ โดย UNFPA สนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของทุกคน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ เป็นประเทศที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติในสังคม ทั้งนี้ สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่โลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน การลดความเหลื่อมล้ำ สุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความเท่าเทียมทางเพศต้องถูกผนวกรวมอยู่ในทุกมิติของการพัฒนาถึงจะสามารถบรรลุอนาคตที่เท่าเทียม ทั่วถึงและยั่งยืนได้

“ตราบใดที่เป็นสิทธิและทางเลือกของแต่ละบุคคล ที่ได้ตัดสินใจด้วยตนเองอย่างได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว UNFPA สนับสนุนเสมอตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และสนับสนุนกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองสิทธิของทุกเพศ ทุกวัยรวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย และเชื่อว่าทุกคนควรได้รับสิทธิในการสร้างครอบครัวอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าเขาจะมีวิถีทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศใดก็ตาม แม้ว่าจะได้รับสิทธิแล้ว ความเข้าใจและการยอมรับจากสังคมถึงความเท่าเทียมที่หลากหลายก็ยังเป็นความท้าทาย ที่เราต้องร่วมมือกันผลักดันต่อไป” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวย้ำ

นางสาวสิริลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า การเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศในเดือนมิถุนายนนี้ร่วมกับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2567 ที่เพิ่งผ่านมา โลกเพิ่งครบรอบ 30 ปีของการประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Developmentหรือ ICPD ซึ่งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ

เมื่อ 30 ปีก่อน ในการประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (ICPD) ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมสร้างพลังของสตรี และสิทธิมนุษยชน ในฐานะหัวใจของการพัฒนา ตลอดทางที่ผ่านมามีความก้าวหน้าเกิดขึ้นมากมาย แต่เรายังมีภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น ในปี พ.ศ.2567 นี้เรามีช่วงเวลาแห่งความสำเร็จสามทศวรรษให้เฉลิมฉลอง และมีโอกาสที่จะบรรจุวาระของ ICPD โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ไว้อย่างมั่นคงในวาระของการพัฒนาแห่งอนาคต ทั้งนี้ UNFPA ทั่วโลกจะจัดงานฉลอง ICPD30 รวมทั้งที่ประเทศไทย โดยทุกภาคส่วนและทุกคนสามารถร่วมเฉลิมฉลองได้โดยการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับ ICPD30 สนับสนุนการปรึกษาหารือที่เกี่ยวกับวาระของ ICPD30 ขยายเสียงสนับสนุนในเวทีอภิปรายต่างๆ ตลอดจนรวมกำลังเครือข่ายและการสนับสนุนใหม่ๆ ในขณะเดียวกันตลอดปี 2567 นี้ UNFPAประจำประเทศไทยก็จะรวมกำลังเครือข่ายสื่อพันธมิตรเพื่อระดมหาพันธมิตรภาคีใหม่ๆ รวมถึงเยาวชน วัยรุ่น กลุ่มสตรี ผู้นำชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รัฐบาล และผู้นำทางความคิดที่ทรงอิทธิพล เพื่อเฉลิมฉลองและผลักดันวาระของ ICPD30” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวเชิญชวน

นอกจากร่วมในขบวนบางกอกไพร์ดในวันแรกของงานแล้ว UNFPA ประจำประเทศไทย ยังได้ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัด Pride Talk เสวนาในหัวข้อ "Empowering Equality: Perspectives on Marriage Equality  and the Future of LGBTI Advocacy - อนาคตของความหลากหลายทางเพศกับการสมรสเท่าเทียม” ในเย็นวันที่ มิถุนายน ณ ดิสคัฟเวอรี่พลาซ่า สยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพฯ โดยวิทยากรประกอบไปด้วย คุณกิตตินันท์ ธรมธัช ฟ้าสีรุ้ง นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย, คุณอาร์มและคุณพอร์ช นักแสดงชื่อดัง, และผู้แทนกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวไต้หวัน และมีผู้เข้าร่วมหลากหลายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมเพศ ผู้นำเยาวชน วัยรุ่น นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป 


คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย, คุณสุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านความเท่าเทียมทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม UNDP ประจำประเทศไทย, คุณปัญจวรี พัวพันธ์ศรี ผู้ประสานงานด้านยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ UNFPA ประจำประเทศไทย และคณะวิทยากรในงาน Pride Talk 

นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายของงานเสวนานี้คือการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยและครอบคลุมสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคนในการเรียนรู้ มีส่วนร่วม และสร้างเครือข่าย ซึ่งเวทีนี้มุ่งอภิปรายอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQIA+ ความท้าทาย และความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของกฎหมายสมรสเท่าเทียม, พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการยอมรับและผสานชาว LGBTQIA+ เพื่อความก้าวหน้าทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ, สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการดำเนินการเพื่อสร้างนโยบายและสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมคนทุกเพศ โดยเน้นผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ซึ่งจะดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูงและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก, ตลอดจนเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมที่มีค่าของชาว LGBTQIA+ ต่อสังคมและวัฒนธรรม พร้อมกับมีวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของความเสมอภาคทางเพศและการยอมรับความหลากหลายทางเพศ

“ในขณะที่เราเริ่มต้นเดือนแห่งความภาคภูมิใจและเฉลิมฉลองความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องตระหนักว่างานของเรายังไม่สิ้นสุด ยังคงมีความท้าทายให้เอาชนะและอุปสรรคที่ต้องรื้อถอน อย่างไรก็ตาม ด้วยการรวมตัวกันเป็นชุมชน ด้วยการรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง และด้วยการสนับสนุนการไม่แบ่งแยก เราสามารถสร้างอนาคตที่ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี ความเคารพ และความเท่าเทียมกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและการยอมรับจากสังคมในฐานะเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ บนเวทีเสวนา วิทยากรต่างร่วมให้ข้อมูลว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะส่งผลเชิงบวกในเชิงสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งส่งเสริมชีวิตของคู่รักและครอบครัว LGBTQIAรวมถึงสังคมไทยโดยรวม ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ เพื่อให้สังคมเตรียมมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและการยอมรับในสังคมไทยให้มากขึ้นนอกจากนี้วิทยากรแต่ละท่านได้แบ่งปันประสบการณณ์ส่วนตัวที่น่าจดจำของการเป็นตัวแทนของ LGBTQIA+ ในชีวิตหรืออาชีพที่ทำ และให้แนวคิดว่าจะสนับสนุนเยาวชนให้กลายเป็นผู้นำความเท่าเทียมเพื่อสร้างความแตกต่างในสังคมยุคใหม่ได้อย่างไร โดยเน้นย้ำว่า การศึกษา เป็นเรื่องที่จะช่วยให้สังคมเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ สามารถทำได้ผ่านการเผยแพร่ข้อมูล สอดแทรกหลักสูตรที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายโดยรวมถึงความหลากหลายทางเพศ เพราะหากสังคมได้รับความรู้และความเข้าใจอย่างทั่วถึงและถูกต้อง จะเป็นอีกวิธีเร่งรัดการยุติการตีตราทางเพศ การเลือกปฏิบัติ และทลายอคติที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIA+ ในสังคมมากยิ่งขึ้น 

 

ชมข่าวเพิ่มเติมที่:
 

 

 

 

ดูภาพเพิ่มเติม:

Bangkok Pride Festival 2024

Pride Talk, 2 June 2024

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

 

สื่อ ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ กุลวดี สุมาลย์นพ sumalnop@unfpa.org