คุณอยู่ที่นี่

แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน

แผนที่ภูมิศาสตร์ – สถานการณ์ แนวโน้ม ข้อมูลแม่วัยรุ่นระดับพื้นที่

ปัญหา “แม่วัยรุ่น” เป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ในปี 2558 ภายใต้ “วาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประชาคมโลกได้ร่วมรับรองการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายนั้น คือ “การสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย” ในเป้าหมายนี้ ตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญ คือ อัตราการคลอดในวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี

สถานการณ์แม่วัยรุ่นของประเทศไทยโดยรวม ถือว่ามีแนวโน้มดี โดยอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์พบว่า ในปี 2561 อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 35 รายต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน ลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 53 รายต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน

แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น แต่ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังเป็นความท้าทายของประเทศ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีหลักแนวคิดและคำมั่นที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ดังนั้น การแก้ปัญหาแม่วัยรุ่น จำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชากรกลุ่มเสี่ยงในทุกพื้นที่ของประเทศ การบูรณาการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่เกี่ยวข้องที่มีในปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีลักษณะแยกส่วน มีจุดแข็งและข้อจำกัดของแต่ละแหล่งข้อมูลที่ต่างกัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการฉายภาพสถานการณ์ปัญหา โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ และทำความเข้าใจถึง ปัจจัยสาเหตุของปัญหาในเรื่องนี้ เป็นความท้าทายที่มีความสำคัญ

การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์หลัก

1) เพื่อส่งเสริมการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลด้านประชากรจากฐานข้อมูลต่าง ๆ

2) เพื่อสร้างข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ระบุตำแหน่งและลักษณะของแม่วัยรุ่นที่มีความเปราะบาง  และ

3) จัดทำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ ที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการดำเนินงานที่ตรงเป้า ในระดับประเทศและระดับพื้นที่และการจัดการทรัพยากรเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างเหมาะสม

ภายใต้วัตถุประสงค์ภาพรวมข้างต้น  การศึกษานี้ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

กิจกรรมที่ 1 การจัดทำแผนที่การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของอัตราการคลอดในวัยรุ่นในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ และ

กิจกรรมที่ 2 การวิเคราะห์ลักษณะทางประชากรเศรษฐกิจและสังคมของแม่วัยรุ่น

สถานการณ์แม่วัยรุ่นในระดับจังหวัด

ภายใต้กิจกรรมที่ 1 ในการจัดทำแผนที่การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของอัตราการคลอดในวัยรุ่น การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากฐานการจดทะเบียนการเกิดปีพ.ศ. 2561 และสำมะโนประชากรและเคหะปีพ.ศ. 2543 และ 2553 ประกอบกับข้อมูลประชากรกลางปีจากฐานทะเบียนราษฎร์ เพื่อคำนวณอัตราการคลอดของหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ

การคำนวณสถานการณ์การคลอดของหญิงวัยรุ่นในทุกจังหวัดและอำเภอของประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลจากฐานทะเบียนเกิดนี้ ได้ปรับที่อยู่ในการจดทะเบียนการเกิดให้เป็นไปตามที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้เป็นแม่ เนื่องจากฐานข้อมูลเดิมเป็นข้อมูลที่สะท้อน “สถานที่คลอด” ไม่ใช่ที่อยู่ตาม “ทะเบียนบ้าน” ซึ่งการปรับข้อมูลที่อยู่ช่วยให้สะท้อนสถานการณ์รายจังหวัดและอำเภอได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ผลการวิเคราะห์สถานการณ์การคลอดในวัยรุ่นจากฐานทะเบียนเกิดในปี 2561 แสดงให้เห็นว่า เมื่อปรับที่อยู่ให้เป็นไปตามทะเบียนบ้านของแม่แล้ว มีความแตกต่างในสถานการณ์การคลอดในวัยรุ่นในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดชลบุรีที่เคยเป็นอันดับ 3 ในอัตราการคลอดของวัยรุ่นก่อนการปรับข้อมูลที่อยู่ (50.1 ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน)  เมื่อปรับข้อมูลให้สะท้อนที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของแม่ พบว่า จังหวัดชลบุรีกลายเป็นอันดับ 58 ของประเทศ (32.1 ต่อประชากรหญิง 15-19 ปี 1,000 คน) การปรับข้อมูลให้สะท้อนที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของแม่วัยรุ่น มีความสำคัญอย่างมากในการสะท้อนให้เห็นพื้นที่เสี่ยงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายในระดับพื้นที่

อีกแหล่งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์สถานการณ์การเป็นแม่วัยรุ่นในแต่ละจังหวัด/อำเภอ คือ การสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประชากรทุกคนในประเทศไทยตามที่อยู่อาศัยจริงในห้วงเวลาของการสำรวจ จากปี 2553 พบว่า กลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พบว่า ในกลุ่มประชากรที่มีสัญชาติไทย อัตราการเป็นแม่วัยรุ่น เท่ากับ 59.8 ต่อ ประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ขณะที่ในกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย มีอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่ามาก ที่ 79.4 เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์จากสำมะโนประชากรและเคหะ ในปี พ.ศ 2543 พบว่า อัตราการเป็นแม่วัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประชากรหญิงที่มีสัญชาติไทย  แต่ลดลงในกลุ่มประชากรหญิงที่ไม่ใช่สัญชาติไทย โดยมีอัตราเท่ากับ 39.9 และ 100.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ตามลำดับ

การวิเคราะห์ข้อมูล 2 ช่วงเวลาของสำมะโนฯ สามารถฉายภาพให้เห็นสถานการณ์ระดับจังหวัดโดยแบ่งกลุ่มจังหวัดได้ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ จังหวัดที่มีอัตราการเป็นแม่วัยรุ่นสูงต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา) จังหวัดที่เคยมีอัตราที่ต่ำแต่สูงขึ้น เคยมีอัตราที่สูงแต่ต่ำลง และจังหวัดที่มีอัตราที่ต่ำต่อเนื่อง

สถานการณ์แม่วัยรุ่นในระดับอำเภอ

เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์แม่วัยรุ่นในระดับอำเภอ การศึกษานี้พบความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำในแต่ละจังหวัด หลายจังหวัดที่มีอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นอยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของประเทศ เช่น เชียงใหม่ ที่อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นในจังหวัดอยู่ที่ 33.3 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมองในระดับอำเภอจะพบว่ามีหลายพื้นที่ภายในจังหวัดที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง เช่น ในอำเภออมก๋อย ที่มีอัตราการคลอดวัยรุ่นสูงถึง 66.1 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน การมองสถานการณ์ในระดับจังหวัดจึงไม่เพียงพอ เนื่องจากอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงบางแห่งถูกละเลยได้ การวิเคราะห์ในระดับอำเภอพบว่า อำเภอที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นสูงเป็นอันดับต้น ๆ มักเป็นอำเภอที่อยู่ตามชายแดน หรือห่างไกลจากเขตเมืองของแต่ละจังหวัด โดยอำเภอเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่มีอัตราการคลอดสูงเสมอไป

ติดตามอ่านสรุปรายงานในรูปแบบ infographic ได้ ที่นี่