คุณอยู่ที่นี่

ข่าวประชาสัมพันธ์  

ความมีอิสระในร่างกาย สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศไทยและทั่วโลก

 

รายงานฉบับสำคัญของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาตินี้คือการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ประเทศและสังคมต่างๆ ได้เสริมสร้างสิทธิและทางเลือกสำหรับทุกคน  ประเทศไทยได้แสดงถึงกลไกแบบบูรณาการในการรักษาความมีอิสระในร่างกาย (Bodily autonomy) และความเสมอภาคระหว่างเพศสำหรับเด็กหญิงวัยรุ่น 

 

เกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนา 57 ประเทศมิได้รับสิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตนหรือไม่ รวมทั้งสิทธิในการคุมกำเนิดหรือแสวงหาการดูแลสุขภาพ สถานการณ์นี้เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิในร่างกายซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน  นี่คือส่วนหนึ่งของข้อค้นพบสำคัญที่ได้รวมไว้ในรายงาน  ร่างกายเป็นของฉัน : สิทธิการมีอิสระและการกำหนดทางเลือกร่างกายของตนเอง ซึ่งเป็นรายงานสถานการณ์ประชากรโลกใน 2021 (State of World Population 2021) จาก  UNFPA หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ขององค์การสหประชาชาติ  และเป็นรายงานฉบับแรกขององค์การสหประชาชาติซึ่งมุ่งเน้นเรื่องความมีอิสระในร่างกาย   

 

การเปิดตัวรายงานฉบับนี้ได้จัดขึ้นผ่านงานทางระบบออนไลน์ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้สนับสนุนและนักเคลื่อนไหวจากทั่วเอเชีย-แปซิฟิครวมทั้งจากในประเทศไทย  โดยได้รับความสนับสนุนจาก  สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจาก สถานทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย และ สำนักงานระดับภูมิภาคขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ เอเชียและแปซิฟิค  หรือ UN Women รวมทั้งผู้ร่วมงานรายสำคัญซึ่งเป็นผู้นำของ  การประชุมว่าด้วยความเสมอภาค  (Generation Equality Forum) (GEF)  โดยการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการรวมตัวระดับโลก มีศูนย์กลางที่ภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ จัดขึ้นโดยองค์การเพ่ือการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และมีรัฐบาลฝรั่งเศสและเม็กซิโกเป็นเจ้าภาพร่วม  โดย UNFPA จะเป็นผู้นำร่วม และฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของ  GEF ความร่วมมือในการปฏิบัติเกี่ยวกับความมีอิสระในร่างกายของ GEF (GEF Action Coalition on Bodily Autonomy)

 

ความมีอิสระและความเที่ยงตรงทางร่างกาย (Bodily autonomy and integrity) คือ อำนาจที่จะตัดสินทางเลือกเกี่ยวกับร่างกายของตนเองมีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคทางเพศและสิทธิมนุษยชน และเป็นสิ่งจำเป็นในการให้อำนาจผู้หญิงและเพื่อที่จะบรรลุ เป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนบยอร์น แอนเดอร์สัน  ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคของ UNFPA เอเชีย-แปซิฟิค ได้ตั้งข้อสังเกตไว้  “การปฏิเสธที่จะให้อำนาจแก่คนหลายล้านคน รวมทั้งผู้หญิงและวัยรุ่นหญิงไม่เพียงแต่จะบั่นทอนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและประเทศทั้งหมดอีกด้วย” 

 

เราจะให้การสนับสนุนประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังต่อไปด้วยการพัฒนาแนวทางที่อิงหลักสิทธิ เนื่องจากหัวข้อนี้มิใช่เป็นเพียงเรื่องของสุขภาพเท่านั้น” ฯพณฯ ตีแยรี มาตู (Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยเน้น “หากปราศจากสิทธิต่อความมีอิสระในร่างกายและกำหนดความต้องการของตนเองแล้วจะไม่อาจมีความเสมอภาคระหว่างบุคคลได้เลย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงใคร่ขอยกย่องรายงานอันมีค่าของ UNFPA ที่ส่งเสริมความเข้าใจและความก้าวหน้าเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าว

 

จากรายงานฉบับนี้ UNFPA  กำลังวัดอำนาจของผู้หญิงในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตน และขอบเขตที่กฎหมายในประเทศต่างๆ สนับสนุนหรือแทรกแซงสิทธิของผู้หญิงในการตัดสินใจเหล่านี้ โดยในบรรดาประเทศที่มีข้อมูลอยู่นั้น รายงานดังกล่าวพบว่า

  • มีเพียงร้อยละ 55 ของผู้หญิงที่ได้รับอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะตัดสินถึงทางเลือกของตนเองเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การคุมกำเนิด และความสามารถที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์
  • มีเพียงร้อยละ 75 ของประเทศเหล่านั้น ที่มีการรับรองตามกฎหมายสำหรับการเข้าถึงการคุมกำเนิดอย่างเสมอภาคและสมบูรณ์
  • มีเพียงประมาณร้อยละ 56 ของประเทศเหล่านั้น ที่มีกฎหมายและนโยบายสนันบสนุนเพศวิถีศึกษารอบด้าน (comprehensive sexuality education)

 

ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างอำนาจในการตัดสินใจกับระดับการศึกษาที่สูงขึ้น  นอกจากนี้ รายงานนี้ยังบันทึกถึงการละเมิดอิสระในร่างกายด้วยวิธีการอื่นๆ โดยเปิดเผยว่า  :

  • 20 ประเทศหรือเขตแดนมีกฎหมายให้ “แต่งงานกับผู้ที่ข่มขืน” ซึ่งทำให้ผู้ชายสามารถพ้นจากการดำเนินคดีทางอาญาได้ถ้าเขาแต่งงานกับผู้หญิงหรือเด็กหญิงที่เขาข่มขืน
  • 23 ประเทศ ไม่มีกฎหมายที่กล่าวถึงประเด็นของการข่มขืนโดยคู่สมรส
  • เด็กหญิงและเด็กชายพิการ มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศมากขึ้นถึงสามเท่า  โดยเด็กหญิงมีความเสี่ยงมากที่สุด 

 

รายงานพบว่า วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง จะต้องพิจารณาถึงความต้องการและประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังเช่นที่ประเทศไทยได้กระทำในการจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นมานานเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  ด้วยการตรากฎหมาย  พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้สร้างกลไกแบบบูรณาการเพื่อรับรองถึงสิทธิอันมีต่อสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับคนหนุ่มสาว  พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดสิทธิสำหรับวัยรุ่นที่จะควบคุมความมีอิสระในร่างกายของตนเอง โดยคำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง  สิทธิที่จะได้รับข้อมูลและความรู้  สิทธิที่จะได้รับบริการสุขภาพการเจริญพันธุ์ สิทธิในการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการทางสังคม ซึ่งมีความเสมอภาคและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

 

ในช่วงของการอภิปรายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการอภิปรายโดย มาเรีย โฮล์ตส์เบิร์ก (Maria Holtsberg) นักสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและที่ปรึกษาด้านการลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ สำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคของ UN Women  ผู้ร่วมอภิปรายจากภาครัฐและภาคประชาสังคมได้บอกเล่าถึงวิธีปฏิบัติที่ดีของประเทศไทยในการจัดการกับประเด็นว่าด้วยพื้นฐานของสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ    

 

นพ. มนัส รามเกียรติศักดิ์  รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณาสุข ในฐานะเลขาธิการของพระราชบัญญัติฉบับนี้ กล่าวว่า  ประเทศไทยมีกรอบทางกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อส่งเสริมกลไกแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ และร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมทั้งคนหนุ่มสาว เพื่อให้มั่นใจถึงการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แก่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทุกคนรวมทั้งเด็กหญิงวัยรุ่น การแก้ไขกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้ อนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์ที่มีอายุไม่เกิน 12 สัปดาห์  นอกจากนี้  ยังมีการสร้าง Line Official ‘Line Club’ เพื่อเป็นช่องทางแบบเรียลไทม์สำหรับคนหนุ่มสาวที่ต้องการคำปรึกษาและบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างทันท่วงที  กลไกนี้มุ่งที่จะเสริมสร้างให้เด็กหญิงวัยรุ่นมีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและควบคุมความมีอิสระในร่างกายของตนได้  

 

โยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยและสมาชิกคณะกรรมการระดับชาติภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กล่าวว่า จุดคาดงัดในการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคือมีการตั้งเครือข่ายและสมาชิกสภาเยาวชนในทุกระดับของประเทศไทย ทั้งระดับชาติ ระดับอำเภอและระดับตำบล  คนเหล่านี้ คือผู้สนับสนุนให้วัยรุ่น เยาวชนเพิ่มความตระหนักรู้ถึงสิทธิของวัยรุ่นที่มีต่อสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์  การศึกษา และบริการด้านสวัสดิการสังคม ที่ได้กำหนดไว้ในมาตราที่ 5 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559   นอกจากนี้ ยังได้ระดมความคิดเห็นของเยาวชนเพื่อจัดทำให้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในฐานะที่เป็นกลไกการตรวจติดตามอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้บริการอย่างเป็นมิตรแก่เยาวชน”     

 

จากมุมมองของนักวิชาการที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับมารดาวัยรุ่นจากกลุ่มชาติพันธุ์  นางสาวประภัสสร มิสา หน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความร่วมมือกับสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการเสริมสร้างระบบสุขภาพเพื่อผู้ย้ายถิ่นชายขอบและผิดกฎหมายในจังหวัดตาก: สุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์สำหรับเด็กหญิงที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย  กล่าวว่า “สถิติได้แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของเด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และไม่ได้ถือสัญชาติไทยนั้นเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มอายุที่มากกว่า (20-24 ปี)   สิ่งสำคัญที่จะรับประกันว่าเด็กหญิงจากกลุ่มชาติพันธุ์สามารถจัดการเรื่องอิสระในร่างกายของตนเองได้ คือการเสริมพลังเด็กหญิงเหล่านี้ให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายและอนาคตของตนได้  ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการเปลี่ยนแปลงขนบในการห้ามพูดถึงเรื่องสุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์” 

 

 “รัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมได้ทำงานร่วมกัน โดยมีวัยรุ่นเข้ามีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ภายใต้กฎหมายที่เป็นหลักในการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  กฎหมายฉบับนี้ยังมุ่งที่จะเสริมสร้างสิทธิของวัยรุ่น รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารและการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับมารดาวัยรุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจถึงอนาคตด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนเหล่านั้น   UNFPA ขอชื่นชมประเทศไทยสำหรับกรอบทางกฎหมาย กลไก และความร่วมมือเพื่อสนับสนุนความมีอิสระในร่างกายสำหรับเยาวชนและวัยรุ่นทุกคน โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง”  นาย ควาเบน่า อาซานเต-เอ็นเทียโมอา (Kwabena Asante-Ntiamoah) รักษาการผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทย และรักษาการผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวไว้ในปาฐกถาปิดงานการเปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรโลก 2021

 

การปฏิเสธความมีอิสระในร่างกาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้หญิงและเด็กหญิง ดังที่ระบุไว้ภายใต้แผนปฏิบัติการ ICPD พ.ศ. 2537 แผนปฏิบัติการปักกิ่ง พ.ศ. 2538  และ วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2573  ซึ่งได้ระบุถึงเป้าหมายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความมีอิสระและสิทธิความชอบธรรมในร่างกาย

 

เนื่องจากความมีอิสระและสิทธิความชอบธรรมในร่างกายมีอิทธิพลต่อสุขภาพในหลายแง่มุม เช่นเดียวกับชีวิตที่ดีงามและมีศักดิ์ศรี ความก้าวหน้าในการทำให้เป็นจริงนั้นจึงมิเพียงแต่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศเท่านั้น  แต่ยังช่วยให้บรรลุเป้าหมายอื่นๆ อีกหลายประการเช่นกัน”  โมฮัมมัด นาซิริ (Mohammad Naciri) ผู้อำนวยการ UN Women ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกล่าว  “รวมทั้งเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)  ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การลดความไม่เสมอภาค และการขจัดความยากจน  ทั้งหมดนี้ล้วนเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นข้อความหลักที่ส่งผ่านเวทีว่าด้วยความเสมอภาคแห่งยุค (Generation Equality)   ทศวรรษแห่งปฏิบัติการเพื่อบรรลุวาระแห่งปี พ.ศ. 2573 และวิสัยทัศน์ในการที่จะไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” 

 

*ท่านสามารถเข้าดูการเปิดตัวสถานการณ์ประชากรโลก 2021 โดย UNFPA ทางออนไลน์ ที่  : YouTube.com/UNFPAAsia และ Facebook.com/UNWomenAsia   หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ : sumalnop@unfpa.org ; +66 819 175 602