สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 กรมอนามัยและภาคียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
(1) พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม
(2) ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดู สร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น
(3) พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร
(4) พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น และ
(5) ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้
การดำเนินงานภายใต้องค์ประกอบที่ 5 ของยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของ United Nations Population Fund (UNFPA) หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งหนึ่งในภารกิจสำคัญของแผนการดำเนินการฯ คือ สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อพัฒนาและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของเยาวชน ผู้หญิง และประชากรกลุ่มเปราะบาง
ด้วยเหตุนี้ UNFPA ร่วมมือกับกรมอนามัยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการฯ จึงได้จัดการประชุมความร่วมมือทางวิชาการขึ้นในระหว่างวันที่ 22-30 มีนาคม 2560 ซึ่งส่วนหนึ่งในการประชุมนี้คือการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมตัวอย่างการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น ณ ต.ศาลายา จ.นครปฐม การประชุมดังกล่าว ทาง UNFPA เชิญวิทยากรมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนของการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการดำเนินงานเพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศอังกฤษอย่างได้ผล
ศาสตราจารย์ โรเจอร์ อิงแฮม ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านสุขภาพและจิตวิทยาชุมชนและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพทางเพศ ณ มหาวิทยาลัยเซาธ์แทมป์ตัน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนและติดตามประเมินแผนงานเพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของอังกฤษในช่วงเวลาสิบปีระหว่างปี พ.ศ. 2542-2557 ความสำเร็จในการดำเนินการลดการตั้งครรภ์ในประเทศอังกฤษเป็นแนวทางให้กับผู้ร่วมเช้าประชุมในการระดมสมองและประยุกต์ใช้ความรู้และบทเรียนการทำงานเพื่อออกแบบการดำเนินงานโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการวางแผนดำเนินงานตาม 5 องค์ประกอบภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว
เอกสารจากที่ได้จากการประชุมฯ ในครั้งนี้ คือ บันทึกการประชุมความร่วมมือทางวิชาการแบ่งตามเนื้อหาของแต่ละยุทธศาสตร์และร่างข้อเสนอแนะกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2560-2569 ดังนี้
(1) บันทึกการประชุมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการบูรณาการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2569 วันที่ 22 มีนาคม 2560 ณ กรมอนามัย
(2) บันทึกการสานเสวนาโต๊ะกลม เพื่อสนับสนุนการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 วันที่ 23 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมสุโกศล
(3) บันทึกการประชุมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการบูรณาการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 วันที่ 27 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมสุโกศล
(4) บันทึกการประชุมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการบูรณาการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 5 วันที่ 28 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมสุโกศล
(5) บันทึกการประชุมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการบูรณาการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 4 วันที่ 29 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมสุโกศล
(6) ร่างข้อเสนอแนะกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569
ติดตามอ่าน พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ได้ ที่นี่
ติดตามอ่าน อินโฟกราฟฟิคสรุปสาระสำคัญในพระราชบัญญัติการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ได้ ที่นี่