Go Back Go Back
Go Back Go Back
Go Back Go Back

เด็กเกินไปที่จะเป็นแม่ – ความไม่เท่าเทียมสร้างภาวะการตั้งครรภ์ในไทยให้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

เด็กเกินไปที่จะเป็นแม่ – ความไม่เท่าเทียมสร้างภาวะการตั้งครรภ์ในไทยให้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

News

เด็กเกินไปที่จะเป็นแม่ – ความไม่เท่าเทียมสร้างภาวะการตั้งครรภ์ในไทยให้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

calendar_today 17 October 2017

แม้ว่าเฟิร์นจะต้องตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ เฟิร์นก็ตั้งใจว่าจะต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยให้ได้ © UNFPA / Ruth Carr
Despite her unplanned pregnancy, 'Fern' is determined to get to university. © UNFPA / Ruth Carr

กรุงเทพฯ

หนูวางแผนชีวิตเอาไว้ แต่เมื่อตั้งครรภ์ หนูก็ต้องเปลี่ยนแผนชีวิตไปในทางที่แตกต่างออกไป ถ้ารู้ตั้งแต่แรกว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ หนูจะจดจ่ออยู่แค่เรื่องการเรียน คงไม่สนใจเรื่องเพื่อนชาย”

*เฟิร์น เด็กสาวที่ทอดสายตาลงพื้นและนั่งเอาขาไขว้กันอยู่ที่ระเบียง เธออยู่ในชุดคลุมท้องหลวมๆ ถักเปียแบบเด็กนักเรียนสาวทั่วๆ ไป เฟิร์นลูบครรภ์ของตัวเองเบาๆ ในขณะที่นั่งรวมกลุ่มกับเด็กสาวและผู้หญิงคนอื่นๆ เป็นกลุ่มเล็กๆ บางคนก็เพิ่งคลอดลูก บางคนก็กำลังตั้งครรภ์ ต่างก็นั่งคุยกันท่ามกลางวันที่อากาศร้อน

“แม่ก็มาเยี่ยมแล้ว เราสองคนต่างก็ร้องไห้กัน แต่หนูรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่ได้อยู่ที่นี่” เฟิร์นกล่าว

บ้านพักฉุกเฉินแห่งนี้ตั้งอยู่แถบชานเมืองกรุงเทพฯ ให้ที่พักที่ปลอดภัยแก่สตรีและเยาวชนหญิงที่พบวิกฤติในชีวิตอย่างเช่นเฟิร์นผู้ซึ่งพบว่าตัวเองตั้งครรภ์อย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนและไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนดี เฟิร์นอายุ 18 ปี ส่วนน้องคนอื่นๆ ที่มาบ้านพักฉุกเฉินมีอายุน้อยถึง 13 ปี ส่วนอีกสิบกว่าคนก็อายุระหว่างสองคนนี้

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของไทยเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในตอนนี้คือ ความไม่เท่าเทียมกันที่ยิ่งทำให้ปัญหายิ่งกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น นี่หมายถึงการขาดการเข้าถึงการศึกษาซึ่งรวมไปถึงเพศวิถีศึกษารอบด้าน (comprehensive sexuality education) และขาดการจ้างงานคนหนุ่มสาว และนี่ก็คือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยและประชากรที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้มีผลต่อสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และเราสามารถเห็นผลกระทบนี้จากสถิติของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ จากข้อมูลเราพบว่าวัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มล่างสุดสองกลุ่ม หรือ วัยรุ่นในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมดมีอัตราการเป็นแม่วัยรุ่นสูงที่สุด” ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทน UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าว

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงและมีความมุ่งหวังที่จะก้าวเป็นประเทศพัฒนาภายในอีก 20 ปีข้างหน้า สถิติของแม่วัยรุ่นในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูง ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 – 2557 มีเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นแล้วประมาณ 1.6 ล้าน คน อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เฉพาะในปีพ.ศ. 2559 เท่านั้นร้อยละ 14.2 ของการเกิดในประเทศไทยทั้งหมดเป็นการเกิดจากแม่วัยรุ่นคือประมาณ 95,000 คน

ในบริบทนี้ เรื่องราวของเฟิร์นคงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรและสามารถแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ซับซ้อนและความท้าทายต่างๆ ของปัญหานี้

เฟิร์นมีความสามารถโดดเด่นในด้านวิชาการและเป็นรองประธานสภานักเรียนในโรงเรียนที่เธอเคยเรียนอยู่ ในช่วงนั้นเธออาศัยอยู่ในอพาร์เมนท์หนึ่งห้องนอนคนเดียว ในขณะที่แม่ทำงานเป็นแม่บ้านที่เมืองอื่นและเธอก็ไม่เคยเจอพ่อมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เฟิร์นสารภาพว่า “เหงา” และทำให้เธอเริ่มความพูดคุยกับเพื่อนชายทางอินเตอร์เนตและนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์กันในที่สุด แต่ที่ทำให้เฟิร์นช็อคที่สุดคือเธอตั้งครรภ์

เราพูดคุยกัน 2-3 เดือน จากนั้นเขาก็ขอมาพบหนูที่ห้อง เราก็คุยกันสักแปบนึงแล้วเขาก็ขอมีอะไรกับหนู หนูปฏิเสธแต่เขาก็ตื้อขอมีอะไรด้วย และเมื่อหนูขอให้เขาใช้ถุงยาว เขาก็บอกว่า ‘ไม่ มันไม่สนุก’” เฟิร์นเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

คุณณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการบ้านพักฉุกเฉิน เล่าใหฟังถึงเรื่องราวมากมายของเด็กสาวที่ต้องอยู่คนเดียว หรือต้องอยู่กับพี่น้องที่อายุน้อยกว่า เด็กสาวที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่น้อยมากนั้น ว่าเป็นเรื่องที่ได้ยินอยู่เป็นประจำทุกวัน

น้องๆ ผู้หญิงเหล่านี้ ส่วนมากมาจากครอบครัวที่แยกทางกัน นี่คือความเสียเปรียบสิ่งแรกในชีวิตของน้องๆ แต่จากการทำงานที่ผ่านมาของดิฉันน้องๆ เหล่านี้ขาดความรู้ที่สำคัญ น้องๆ หลายคนคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์กันครั้งแรกไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ น้องๆ ผู้ชายก็คิดเช่นนั้น เห็นได้ว่าเยาวชนมากมายไม่เข้าใจเรื่องสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของตัวเองเลย นอกจากนี้ น้องๆ เยาวชนผู้หญิงยังขาดทักษะในการต่อรองกับเพื่อนชายด้วย”

เฟิร์นพักที่บ้านพักฉุกเฉินในกรุงเทพฯ © UNFPA / Ruth Carr

แม้ว่าเพศศึกษาจะเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนไทย แต่น้องๆ เยาวชนมากมายรวมทั้งแม่วัยรุ่นที่พักอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินรู้สึกว่าการสอนเรื่องเพศศึกษานี้ไม่เพียงพอ การมุ่งสอนเพียงแค่ความรู้เรื่องเพศศึกษาในแง่มุมชีววิทยาและกายวิภาคทำให้หลายคนบอกว่าพวกเขาไม่เข้าใจว่ามีความเสี่ยงเรื่องเพศและไม่เข้าใจว่าจะต้องป้องกันในเรื่องความเสี่ยงในเรื่องของสุขภาวะทางเพศอย่างไร

ที่โรงเรียนก็สอนวิชาเพศศึกษาค่ะ แต่ในความเห็นของหนูยังสอนไม่ละเอียดพอค่ะ การพูดถึงเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องผิดอะไร คุณครูจำเป็นต้องเข้าใจว่าต้องสอนให้ลึกละเอียดกว่านี้เพื่อที่เด็กๆ เยาวชนๆ จะสามารถจัดการสุขภาวะและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศได้ด้วยตัวเองค่ะ” น้องเมย์ แม่วัยรุ่นวัย 15 ปีกล่าว

ต้น ลูกชายวัยเพียงแค่เดือนเศษของน้องเมย์ แต่ตอนนนี้ต้องเผชิญกับภาวะถูกทอดทิ้งจากพ่อวัยรุ่นและข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจของแม่ที่จะดูแล “อีกหนึ่งชีวิตที่จะต้องเลี้ยงดู” ตอนนี้ เมย์กำลังคิดกลับไปกลับมาระหว่างยกต้นให้เป็นลูกอุปถัมภ์ของคนอื่น หรือจะพาต้นกลับบ้านและไปทำงานที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลเว่นแถวบ้านและพยายามเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้ว่าเมย์จะรักต้นขนาดไหน แต่เมย์ก็ต้องสารภาพว่าตอนนี้เธอ “ยังไม่พร้อมที่จะดูแลเด็กที่เกิดมาคนหนึ่ง” และ “ร้องไห้มากทุกๆ วัน”

เมย์และลูกของเธอที่บ้านฉุกเฉินในกรุงเทพฯ © UNFPA / Ruth Carr

ส่วนเฟิร์นเองก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเรียนปวช.ให้จบและเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยให้ได้ อย่างไรก็ตามอนาคตที่มองเห็นได้ในตอนนี้คือเฟิร์นมีข้อจำกัดน้อยมากและสามารถไปนั่งเรียนได้เพียงแค่ 1 วันต่อสัปดาห์ซึ่งเป็นวันที่แม่ของเฟิร์นหยุดงานและมาช่วยเลี้ยงดูลูกให้เฟิร์นได้

เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่หวังไว้อาจจะยากอาจจะมีอุปสรรค แต่เหนืออื่นใดหนูกังวลว่าหนูจะซ่อนเรื่องที่ว่าหนูมีลูกได้นานแค่ไหน เพราะ (การตีตราของสังคม) หนูไม่ต้องการให้ใครทราบเรื่องนี้ อีกเรื่องที่หนูกังวลคือสถานการณ์ทางการเงินของแม่ของหนู หนูไม่รู้ว่าแม่จะส่งหนูได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการเรียนของหนูและลูกของหนู และถ้าแม่ของหนูไม่ว่างมาช่วยดูลูก หนูก็ต้องจ้างพี่เลี้ยงมาดูลูกเพื่อหนูจะได้ไปเรียนได้ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่หนูไม่มีเงินมาจ่าย นี่เป็นภาระที่หนักหน่วงมากค่ะ”

รัฐบาลไทยมองเห็นถึงช่องว่างและความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ จึงได้ออกกฎหมายฉบับใหม่มา คือ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่มุ่งแก้ไขคุณภาพการให้การศึกษาเรื่องสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นให้มีการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลระหว่าง 5 กระทรวงหลักที่บรูณาการในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

การออกกฎหมายฉบับนี้เมื่อพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมและจาก UNFPA ด้วยเช่นเดียวกัน สิ่งท้าทายในขณะนี้คือการนำพ.ร.บ.มาบังคับใช้ให้ได้อย่างเกิดประสิทธิผล

ในฐานะที่เรามุ่งมั่นที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราต้องให้โอกาสกับแม่วัยรุ่น และกับเยาวชนวัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ให้ได้รับข้อมูล ความรู้ที่ทำให้น้องๆ เยาวชนเหล่านี้สามารถป้องกันตัวเองจากการตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่นให้ได้ ในมุมมองระดับประเทศ เราไม่สามารถที่จะก้าวออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้เลยถ้าเราไม่จัดการและแก้ไขกับปัญหาที่เป็นรากฐานของความไม่เท่าเทียมนี้เสียก่อน” ดร.วาสนากล่าวทิ้งท้าย

 

* ใช้นามสมมุติเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว

 

บทความนี้เขียนเนื่องในโอกาสเปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรโลก ปี 2560 โลกที่แตกแยก สถานการณ์สิทธิและสุขภาวะทางเพศในยุคของความไม่เท่าเทียม http://www.unfpa.org/SWOP