Go Back Go Back
Go Back Go Back
Go Back Go Back

ปาฐกถาเรืองรายงานสถานการณประชากรโลก 2560 จากดร. นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ

ปาฐกถาเรืองรายงานสถานการณประชากรโลก 2560 จากดร. นาตาเลีย คาเนม  ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ

Statement

ปาฐกถาเรืองรายงานสถานการณประชากรโลก 2560 จากดร. นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ

calendar_today 17 October 2017

ดร. นาตาเลีย คาเนม  ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ

ดร. นาตาเลีย คาเนม
ผู้อำนวยการบริหาร
UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ

รายงานสถานการณประชากรโลก 2560

“โลกที่แตกแยก – สถานการณ์สิทธิและสุขภาวะทางเพศ
ในยุคของความไม่เท่าเทียมกัน”

 

ณ กรุงลอนดอน วันที่ 17 ตุลาคม 2560

 

ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่การเปิดตัว รายงานสถานการณประชากรโลก 2560 “โลกที่แตกแยก – สถานการณ์สิทธิและสุขภาวะทางเพศในยุคของความไม่เท่าเทียมกัน”

 

ดิฉัน ดร.นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ

 

โลกของเรายิ่งวันก็ยิ่งมีแต่ความไม่เท่าเทียม แต่ความไม่เท่าเทียมนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกี่ยวกับเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพลัง สิทธิ และโอกาส และมีหลากมิติที่ส่งผลเอื้อให้เกิดความไม่เท่าเทียมที่ทวีคูณ

 

มิติหนึ่งของความไม่เท่าเทียมกันที่ได้รับความสนใจน้อยมากคือ การมีความสุข หรือ การถูกปฏิเสธในเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งผลกระทบของความไม่เท่าเทียมกันในมิตินี้กำลังเกิดขึ้นกับครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้

 

และนี่คือประเด็นหลักของรายงานประจำปีของ UNFPA นั่นคือ รายงานสถานการณ์ประชากรโลก 2560

 

ลองพิจารณาประเด็นเหล่านี้ดูกัน ในส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา สตรีที่ยากจนที่สุดมีศักยภาพน้อยที่สุดในการตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ เมื่อใด และบ่อยแค่ไหน สตรีที่ยากจนที่สุดยังมีศักยภาพน้อยที่สุดในการเข้ารับบริการที่มีคุณภาพระหว่างตั้งครรภ์และในการคลอดบุตร

 

ความไม่เท่าเทียมนี้สร้างผลกระทบในระยะยาวต่อสตรีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในด้านสุขภาพ ชีวิตการทำงาน ศักยภาพในการสร้างรายได้และการสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่ตนอยู่รวมไปถึงการขจัดความยากจนในประเทศด้วย

 

ดิฉันขอยกตัวอย่างผลกระทบของความไม่เท่าเทียมที่มีต่อสุขภาวะทางเพศของสตรีและเยาวชนหญิง

 

Obstetric fistula เป็นศัพท์ทางการแพทย์ หมายถึง แผลชอนทะลุจากกระเพาะปัสสาวะถึงช่องคลอดอันเกิดจากการคลอดบุตรซึ่งเป็นผลมาจากการคลอดที่อยู่ในภาวะติดขัดเป็นระยะเวลานาน อาการแผลดังกล่าวเกือบจะถูกขจัดออกไปหมดในประเทศที่มีความมั่งคั่งและชุมชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีที่อยู่ในประเทศที่ยากจน อาการแผลชอนทะลุเป็นอาการที่สามารถป้องกันและรักษาได้ แต่ยังคงเกิดขึ้นอยู่เนื่องจากมีระบบด้านสุขภาพที่อ่อนแอ จากความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และการแต่งงานและการตั้งครรภ์ตั้งแต่มีอายุน้อย

 

แผลชอนทะลุเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวที่น่าหดหู่ในการปกป้องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีและเยาวชนหหญิงที่มีฐานะที่ยากจนที่สุดและอยู่ในปริมณฑลชายขอบของสังคม

 

ในฐานะที่ตัวดิฉันเป็นแพทย์และเป็นอดีตผู้แทน UNFPA ในประเทศแทนซาเนีย ดิฉันได้เห็นด้วยตาตัวเองถึงความทรมานอย่างแสนสาหัสที่ไม่จำเป็นขึ้นจากอาการป่วยของแผลชอนทะลุและได้ยินเรื่องราวที่น่าเศร้ามาก ผู้หญิงท่านหนึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากแผลชอนทะลุมาเป็นเวลา 8 ปี ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองดาร์ เอส ซาลาม

 

เมื่อแพทย์ถามว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไมถึงใช้เวลาตั้ง 8 ปีกว่าที่จะมาเข้ารับการรักษา แพทย์ยังถามอีกด้วยว่าเธอทราบไหมว่าอาการนี้รักษาให้หายได้ ผู้หญิงอายุน้อยท่านนี้ตอบว่า เธอทราบแต่เธอต้องใช้เป็นปีๆ กว่าที่เธอจะสามารถเก็บเงนได้พอค่าโดยสารรถประจำทางเพื่อที่จะมาโรงพยาบาลได้ เรื่องราวของเธอไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย มีสตรีมากกว่า 2 ล้านคนที่ยังคงประสบกับอาการแผลชอนทะลุดังกล่าวและไม่สามารถมีเงินพอหรือเข้าถึงการรักษาได้

 

นอกจากนี้ การคุมกำเนิดก็เช่นกันมักจะไปไม่ถึงคนที่มีฐานะยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีระดับการศึกษาน้อยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และนี่ทำให้สตรีและเยาวชนหญิงจำนวนมากเผชิญต่อความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้

 

การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้สามารถขัดขวางในการสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพและดึงให้สตรีและลูกๆ ของพวกเธอให้ตกอยู่ในวงจรแห่งความยากจนอย่างไม่มีวันจบสิ้น ความตกต่ำทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ เรายังทราบกันอีกด้วยว่าภาวะฉุกเฉินและเหตุการณ์วิกฤติด้านมนุษยธรรมยังเพิ่มความรุนแรงให้กับภาวะความไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย ทั้งนี้ภาวะการตกอยู่ในความไม่เท่าทียมและในความเสี่ยงสามารถมีความทวีคูณขึ้นได้เมื่อควบคู่ไปเมื่อตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ยกตัวอย่าง ในประเทศซูดานใต้ สตรีที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ไม่ค่อยจะได้เข้าถึงบริการสุขภาวะมารดาที่มีผลต่อชีวิตต้องพบว่าไม่มีความช่วยเหลือใดอยู่อีกแล้วเมื่อเกิดการปะทะกันถึงชีวิตในแถบชายแดนที่ติดกับประเทศยูกันดาซึ่งทำให้คนจำนวนมากเป็นหมี่นๆ คนที่ต้องหนีออกจากบ้านถิ่นที่อยู่ของตัวเองไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจแบ่งประเทศต่างๆ ให้อยู่ในฐานะ มี และ ไม่มี ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและสุขภาวะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศแบ่งผู้คนออกจากกันในฐานะของ สามารถทำได้ และ ไม่สามารถทำได้

 

สตรีหรือเยาวชนหญิงที่ไม่สามารถได้รับสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ได้คือคนที่ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตที่มีสุขภาวะที่แข็งแรงได้ ไม่สามารถดำเนินการศึกษาต่อจนจบได้ ไม่สามารถหางานได้ดี และไม่สามารถที่จะพูดคุยถึงอนาคตทางเศรษฐกิจของตัวเองได้

 

ความไม่เท่าเทียมกันทางสิทธิและสุขภาวะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ทำให้สตรีเป็นล้านๆ คนที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงไม่ได้รับสิทธิของตัวเอง นี่ยังเป็นการสนับสนุนระบบสังคมและเศรษฐกิจที่ให้คนที่อยู่ในชนชั้นอภิสิทธิได้ก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับบนและได้อยู่ที่ตรงนั้นในขณะที่ฉุดให้คนเป็นจำนวนมากลงสู่ระดับล่างสุดของสังคม นี่เป็นการปล้นสิทธิของแต่ละปัจเจกไปและปฏิเสธรากฐานของการพัฒนาในประเทศนั้นๆ

ประเทศที่มุ่งแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจควรเริ่มจากการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เป็นรากฐานและเกี่ยวข้องเช่นเรื่องสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์

 

สิทธิและสุขภาวะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นตัวแปรที่สำคัญแต่มักได้รับการชื่นชมน้อยมากในฐานะที่เป็นวิธีการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ประเด็นดังกล่าวยังขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทางสหประชาชาติแนะไว้ นั่นคือ การขจัดความยากจน

 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งสร้างโลกที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน สำหรับโลกใบนี้ และเพื่อให้เกิดความรุ่งเรื่องแก่ทุกคน การบรรลุความรุ่งเรืองมั่งคั่งสำหรับทุกคนจำเป็นจะต้องสนับสนุนศักยภาพของคนที่อยู่ชายขอบก่อนเป็นอย่างแรก

 

การขยายทางเลือกและตัวเลือกให้กับสตรีที่ยากจนที่สุดโดยการให้สนับสนุนศักยภาพให้พวกเธอสามารถได้รับสิทธิในการตัดสินใจได้ด้วยตัวเองในเรื่องที่เกี่ยวกับช่วงเวลาและความถี่ในการตั้งครรภ์เป็นเส้นทางที่สำคัญมากที่จะนำพาพวกเธอไปสู่ความมั่นคงและอิสระทางเศรษฐกิจ นี่ยังเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความสมดุลอีกด้วย

 

ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องไม่เพียงแต่ต้องลดความต้องการที่ไม่สัมฤทธิ์ในเรื่องการวางแผนครอบครัวลง แต่ต้องลดความต้องการที่ไม่สัมฤทธิ์ในด้านบริการต่างๆ เช่นการดูแลเด็ก ซึ่งจะทำให้สตรีทั้งหลายสามารถเข้าสู่หรือยังอยู่ในตลาดแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนและปกป้องพวกเธอจากการ “บทลงโทษจากการเป็นแม่”

 

และถ้าสตรีที่ยากจนตกอยู่ในภาวะที่ด้อยโอกาส แล้ววัยรุ่นโดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงที่มีฐานะยากจนจะยิ่งอยู่ในภาวะด้อยโอกาสมากขนาดไหน ดังนั้นการลงทุนสนับสนุนวัยรุ่นหญิงนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

 

การศึกษาในวารสาร The Lancet เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงสุขภาพด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศของวัยรุ่นสามารถตีมูลค่าออกมาได้ที่ประมาณ 4.6 ดอลลาร์ หรือ 150 บาท ต่อคนต่อปี และจะก่อให้เกิดผลตอบแทนได้มากกว่า 10 เท่าให้กับสังคม นอกจากนี้ ผลตอบแทนนี้จะเกิดมูลค่ามากที่สุดในประเทศที่ยากจนที่สุดที่กำลังประสบกับปัญหาภาระที่เกิดจากการเสียชีวิตของเยาวชนและวัยรุ่น

 

นวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาแบบสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่จำเป็นมากในการเข้าถึงกลุ่มคนที่อยู่ในปริมณฑลชายขอบ

 

ยกตัวอย่างเช่นในประเทศมองโกเลีย โครงการแพทย์ผ่านสายโทรศัพท์ เป็นโครงการนวัตกรรมที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีถิ่นพำนักในเมืองหลวงสามารถให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์กับแพทย์และผู้ป่วยในต่างจังหวัดที่อยู่ไกลออกไปเป็นร้อยๆ ไมล์ได้รวมทั้งนังสามารถแชร์ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อการวิเคราะห์โรคได้ด้วย

 

และเมื่อเริ่มต้นโครงการนี้ก็สามารถเข้าถึงอย่างน้อยร้อยละ 60 ของสตรีตั้งครรภ์ทั่วประเทศซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่บริการยากจะเข้าถึง และเราคิดว่าวิธีการวัดความสำเร็จที่ดีที่สุดของโครงการนี้คือประเทศมองโกเลียเป็นหนึ่งในเพียงเก้าประเทศเท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหสวัส (Millennium Development Goal) ในด้านการลดการเสียชีวิตของมารดา

 

ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้นเหมือนกับที่ความมั่งคั่งกระจุกอยู่ในการครอบครองของคนจำนวนน้อยลงๆ ในขณะที่จำนวนคนจนก็ยังคงมีจำนวนมาก ความไม่เท่าเทียมกันอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจสามารถบั่นทอนโอกาสของประเทศที่จะเติบโตและขัดขวางการพัฒนา และสามารถก่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองและทำลายสันติภาพในที่สุดถ้าไม่ได้รับการแก้ไข

 

อย่างที่ เฮเลน เคเลอร์ ได้เคยกล่าวไว้ “แม้ว่าโลกใบนี้จะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากอยู่แล้ว แต่ก็มีการเอาชนะความทุกข์ยากต่างๆ ให้เห็นอยู่มากมายเช่นเดียวกัน”

 

การหยุดการหยั่งรากลึกของความไม่เท่าเทียมกันจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ที่เล็งเห็นถึงสังคมที่มีพื้นที่ให้ทุกคน ที่ๆ คนทุกคนต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างแท้จริง

 

และนี่เป็นวิสัยทัศน์ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของ UNFPA ในการดำเนินงานปี 2561-2564 ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแผนงานแรกที่จะนำพาเราไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานของสหประชาชาติอื่นๆ หน่วยงานภาคีและรัฐบาลของประเทศต่างๆ UNFPA มุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่มีตัวเลข ศูนย์ ในด้านต่อไปนี้

จำนวนการเสียชีวิตของมารดา เป็น ศูนย์

จำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ เป็น ศูนย์

และ จำนวนการกระทำรุนแรงและเป็นภัยต่อเพศสภาพ รวไปถึงการขลิบอวัยวะเพศหญิงและการบังคับการแต่งงานในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้อง เป็น ศูนย์

 

ดังนั้น เราเรียกร้องในวันนี้ให้ทุกภาคส่วนที่อยู่แนวหน้าในการจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบที่มีต่อสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ตั้งแต่ต้นตอขอปัญหา และวางรากฐานของอนาคตที่เป็นทางเลือกที่ให้ความเท่าเทียมเสมอภาคกัน อนาคตที่สตรีทุกคนสามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างเท่าเทียม และทำให้พวกเธอปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้

 

อนาคตที่สตรีทุกคน ผู้ชายทุกคน เยาวชนหญิง-ชาย ทุกคนเข้าใจและได้รับสิทธิและมีความรู้ ศักยภาพในการจัดการวิถีชีวิตของตัวเองได้

 

ในท้ายนี้ ความไม่เท่าเทียมกันนั้นจริงๆ แล้วคือ เรื่องของ ศักยภาพ ที่กลุ่มคนเพียงน้อยนิดมี และกลุ่มคนอีกเป็นจำนวนมาก ไม่มี รายงานเรื่อง “โลกที่แตกแยก” ซึ่งเป็นรายงานที่ UNFPA ออกประจำปี ได้ส่งเสียงเรียกให้เรามอบศักยภาพให้สตรีในการที่จะควบคุมทางเลือกเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ของตัวเองและอนาคตของตัวเองได้ และเมื่อศักยภาพอยู่ในมือของสตรี “โลกที่แตกแยก” ก็จะไม่มีอีกต่อไป และด้วยศักยภาพดังกล่าว แทนที่จะเป็นความแตกแยกและความไม่เท่าเทียมกัน ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้นและโลกที่เสมอภาคกันสำหรับสตรีและเยาวชนหญิงก็จะเป็นรางวัลให้กับพวกเรา

 

ขอบคุณค่ะ

###