ดร. นาตาเลีย คาเนม
ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
รายงานสถานการณประชากรโลก 2560
“โลกที่แตกแยก – สถานการณ์สิทธิและสุขภาวะทางเพศ
ในยุคของความไม่เท่าเทียมกัน”
ณ กรุงลอนดอน วันที่ 17 ตุลาคม 2560
ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่การเปิดตัว รายงานสถานการณประชากรโลก 2560 “โลกที่แตกแยก – สถานการณ์สิทธิและสุขภาวะทางเพศในยุคของความไม่เท่าเทียมกัน”
ดิฉัน ดร.นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ
โลกของเรายิ่งวันก็ยิ่งมีแต่ความไม่เท่าเทียม แต่ความไม่เท่าเทียมนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกี่ยวกับเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพลัง สิทธิ และโอกาส และมีหลากมิติที่ส่งผลเอื้อให้เกิดความไม่เท่าเทียมที่ทวีคูณ
มิติหนึ่งของความไม่เท่าเทียมกันที่ได้รับความสนใจน้อยมากคือ การมีความสุข หรือ การถูกปฏิเสธในเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งผลกระทบของความไม่เท่าเทียมกันในมิตินี้กำลังเกิดขึ้นกับครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้
และนี่คือประเด็นหลักของรายงานประจำปีของ UNFPA นั่นคือ รายงานสถานการณ์ประชากรโลก 2560
ลองพิจารณาประเด็นเหล่านี้ดูกัน ในส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา สตรีที่ยากจนที่สุดมีศักยภาพน้อยที่สุดในการตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ เมื่อใด และบ่อยแค่ไหน สตรีที่ยากจนที่สุดยังมีศักยภาพน้อยที่สุดในการเข้ารับบริการที่มีคุณภาพระหว่างตั้งครรภ์และในการคลอดบุตร
ความไม่เท่าเทียมนี้สร้างผลกระทบในระยะยาวต่อสตรีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในด้านสุขภาพ ชีวิตการทำงาน ศักยภาพในการสร้างรายได้และการสนับสนุนการพัฒนาประเทศที่ตนอยู่รวมไปถึงการขจัดความยากจนในประเทศด้วย
ดิฉันขอยกตัวอย่างผลกระทบของความไม่เท่าเทียมที่มีต่อสุขภาวะทางเพศของสตรีและเยาวชนหญิง
Obstetric fistula เป็นศัพท์ทางการแพทย์ หมายถึง แผลชอนทะลุจากกระเพาะปัสสาวะถึงช่องคลอดอันเกิดจากการคลอดบุตรซึ่งเป็นผลมาจากการคลอดที่อยู่ในภาวะติดขัดเป็นระยะเวลานาน อาการแผลดังกล่าวเกือบจะถูกขจัดออกไปหมดในประเทศที่มีความมั่งคั่งและชุมชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีที่อยู่ในประเทศที่ยากจน อาการแผลชอนทะลุเป็นอาการที่สามารถป้องกันและรักษาได้ แต่ยังคงเกิดขึ้นอยู่เนื่องจากมีระบบด้านสุขภาพที่อ่อนแอ จากความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และการแต่งงานและการตั้งครรภ์ตั้งแต่มีอายุน้อย
แผลชอนทะลุเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวที่น่าหดหู่ในการปกป้องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรีและเยาวชนหหญิงที่มีฐานะที่ยากจนที่สุดและอยู่ในปริมณฑลชายขอบของสังคม
ในฐานะที่ตัวดิฉันเป็นแพทย์และเป็นอดีตผู้แทน UNFPA ในประเทศแทนซาเนีย ดิฉันได้เห็นด้วยตาตัวเองถึงความทรมานอย่างแสนสาหัสที่ไม่จำเป็นขึ้นจากอาการป่วยของแผลชอนทะลุและได้ยินเรื่องราวที่น่าเศร้ามาก ผู้หญิงท่านหนึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากแผลชอนทะลุมาเป็นเวลา 8 ปี ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลในเมืองดาร์ เอส ซาลาม
เมื่อแพทย์ถามว่าเกิดอะไรขึ้นและทำไมถึงใช้เวลาตั้ง 8 ปีกว่าที่จะมาเข้ารับการรักษา แพทย์ยังถามอีกด้วยว่าเธอทราบไหมว่าอาการนี้รักษาให้หายได้ ผู้หญิงอายุน้อยท่านนี้ตอบว่า เธอทราบแต่เธอต้องใช้เป็นปีๆ กว่าที่เธอจะสามารถเก็บเงนได้พอค่าโดยสารรถประจำทางเพื่อที่จะมาโรงพยาบาลได้ เรื่องราวของเธอไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย มีสตรีมากกว่า 2 ล้านคนที่ยังคงประสบกับอาการแผลชอนทะลุดังกล่าวและไม่สามารถมีเงินพอหรือเข้าถึงการรักษาได้
นอกจากนี้ การคุมกำเนิดก็เช่นกันมักจะไปไม่ถึงคนที่มีฐานะยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีระดับการศึกษาน้อยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และนี่ทำให้สตรีและเยาวชนหญิงจำนวนมากเผชิญต่อความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้
การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้สามารถขัดขวางในการสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพและดึงให้สตรีและลูกๆ ของพวกเธอให้ตกอยู่ในวงจรแห่งความยากจนอย่างไม่มีวันจบสิ้น ความตกต่ำทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว
นอกจากนี้ เรายังทราบกันอีกด้วยว่าภาวะฉุกเฉินและเหตุการณ์วิกฤติด้านมนุษยธรรมยังเพิ่มความรุนแรงให้กับภาวะความไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย ทั้งนี้ภาวะการตกอยู่ในความไม่เท่าทียมและในความเสี่ยงสามารถมีความทวีคูณขึ้นได้เมื่อควบคู่ไปเมื่อตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ยกตัวอย่าง ในประเทศซูดานใต้ สตรีที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรที่ไม่ค่อยจะได้เข้าถึงบริการสุขภาวะมารดาที่มีผลต่อชีวิตต้องพบว่าไม่มีความช่วยเหลือใดอยู่อีกแล้วเมื่อเกิดการปะทะกันถึงชีวิตในแถบชายแดนที่ติดกับประเทศยูกันดาซึ่งทำให้คนจำนวนมากเป็นหมี่นๆ คนที่ต้องหนีออกจากบ้านถิ่นที่อยู่ของตัวเองไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจแบ่งประเทศต่างๆ ให้อยู่ในฐานะ มี และ ไม่มี ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและสุขภาวะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศแบ่งผู้คนออกจากกันในฐานะของ สามารถทำได้ และ ไม่สามารถทำได้
สตรีหรือเยาวชนหญิงที่ไม่สามารถได้รับสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ได้คือคนที่ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตที่มีสุขภาวะที่แข็งแรงได้ ไม่สามารถดำเนินการศึกษาต่อจนจบได้ ไม่สามารถหางานได้ดี และไม่สามารถที่จะพูดคุยถึงอนาคตทางเศรษฐกิจของตัวเองได้
ความไม่เท่าเทียมกันทางสิทธิและสุขภาวะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ทำให้สตรีเป็นล้านๆ คนที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงไม่ได้รับสิทธิของตัวเอง นี่ยังเป็นการสนับสนุนระบบสังคมและเศรษฐกิจที่ให้คนที่อยู่ในชนชั้นอภิสิทธิได้ก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับบนและได้อยู่ที่ตรงนั้นในขณะที่ฉุดให้คนเป็นจำนวนมากลงสู่ระดับล่างสุดของสังคม นี่เป็นการปล้นสิทธิของแต่ละปัจเจกไปและปฏิเสธรากฐานของการพัฒนาในประเทศนั้นๆ
ประเทศที่มุ่งแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจควรเริ่มจากการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เป็นรากฐานและเกี่ยวข้องเช่นเรื่องสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์
สิทธิและสุขภาวะด้านอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นตัวแปรที่สำคัญแต่มักได้รับการชื่นชมน้อยมากในฐานะที่เป็นวิธีการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ประเด็นดังกล่าวยังขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทางสหประชาชาติแนะไว้ นั่นคือ การขจัดความยากจน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งสร้างโลกที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน สำหรับโลกใบนี้ และเพื่อให้เกิดความรุ่งเรื่องแก่ทุกคน การบรรลุความรุ่งเรืองมั่งคั่งสำหรับทุกคนจำเป็นจะต้องสนับสนุนศักยภาพของคนที่อยู่ชายขอบก่อนเป็นอย่างแรก
การขยายทางเลือกและตัวเลือกให้กับสตรีที่ยากจนที่สุดโดยการให้สนับสนุนศักยภาพให้พวกเธอสามารถได้รับสิทธิในการตัดสินใจได้ด้วยตัวเองในเรื่องที่เกี่ยวกับช่วงเวลาและความถี่ในการตั้งครรภ์เป็นเส้นทางที่สำคัญมากที่จะนำพาพวกเธอไปสู่ความมั่นคงและอิสระทางเศรษฐกิจ นี่ยังเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความสมดุลอีกด้วย
ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องไม่เพียงแต่ต้องลดความต้องการที่ไม่สัมฤทธิ์ในเรื่องการวางแผนครอบครัวลง แต่ต้องลดความต้องการที่ไม่สัมฤทธิ์ในด้านบริการต่างๆ เช่นการดูแลเด็ก ซึ่งจะทำให้สตรีทั้งหลายสามารถเข้าสู่หรือยังอยู่ในตลาดแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทนและปกป้องพวกเธอจากการ “บทลงโทษจากการเป็นแม่”
และถ้าสตรีที่ยากจนตกอยู่ในภาวะที่ด้อยโอกาส แล้ววัยรุ่นโดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงที่มีฐานะยากจนจะยิ่งอยู่ในภาวะด้อยโอกาสมากขนาดไหน ดังนั้นการลงทุนสนับสนุนวัยรุ่นหญิงนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
การศึกษาในวารสาร The Lancet เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงสุขภาพด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศของวัยรุ่นสามารถตีมูลค่าออกมาได้ที่ประมาณ 4.6 ดอลลาร์ หรือ 150 บาท ต่อคนต่อปี และจะก่อให้เกิดผลตอบแทนได้มากกว่า 10 เท่าให้กับสังคม นอกจากนี้ ผลตอบแทนนี้จะเกิดมูลค่ามากที่สุดในประเทศที่ยากจนที่สุดที่กำลังประสบกับปัญหาภาระที่เกิดจากการเสียชีวิตของเยาวชนและวัยรุ่น
นวัตกรรมและการแก้ไขปัญหาแบบสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่จำเป็นมากในการเข้าถึงกลุ่มคนที่อยู่ในปริมณฑลชายขอบ
ยกตัวอย่างเช่นในประเทศมองโกเลีย โครงการแพทย์ผ่านสายโทรศัพท์ เป็นโครงการนวัตกรรมที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีถิ่นพำนักในเมืองหลวงสามารถให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์กับแพทย์และผู้ป่วยในต่างจังหวัดที่อยู่ไกลออกไปเป็นร้อยๆ ไมล์ได้รวมทั้งนังสามารถแชร์ข้อมูลทางการแพทย์เพื่อการวิเคราะห์โรคได้ด้วย
และเมื่อเริ่มต้นโครงการนี้ก็สามารถเข้าถึงอย่างน้อยร้อยละ 60 ของสตรีตั้งครรภ์ทั่วประเทศซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่บริการยากจะเข้าถึง และเราคิดว่าวิธีการวัดความสำเร็จที่ดีที่สุดของโครงการนี้คือประเทศมองโกเลียเป็นหนึ่งในเพียงเก้าประเทศเท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหสวัส (Millennium Development Goal) ในด้านการลดการเสียชีวิตของมารดา
ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้นเหมือนกับที่ความมั่งคั่งกระจุกอยู่ในการครอบครองของคนจำนวนน้อยลงๆ ในขณะที่จำนวนคนจนก็ยังคงมีจำนวนมาก ความไม่เท่าเทียมกันอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจสามารถบั่นทอนโอกาสของประเทศที่จะเติบโตและขัดขวางการพัฒนา และสามารถก่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองและทำลายสันติภาพในที่สุดถ้าไม่ได้รับการแก้ไข
อย่างที่ เฮเลน เคเลอร์ ได้เคยกล่าวไว้ “แม้ว่าโลกใบนี้จะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากอยู่แล้ว แต่ก็มีการเอาชนะความทุกข์ยากต่างๆ ให้เห็นอยู่มากมายเช่นเดียวกัน”
การหยุดการหยั่งรากลึกของความไม่เท่าเทียมกันจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ที่เล็งเห็นถึงสังคมที่มีพื้นที่ให้ทุกคน ที่ๆ คนทุกคนต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างแท้จริง
และนี่เป็นวิสัยทัศน์ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของ UNFPA ในการดำเนินงานปี 2561-2564 ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแผนงานแรกที่จะนำพาเราไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานของสหประชาชาติอื่นๆ หน่วยงานภาคีและรัฐบาลของประเทศต่างๆ UNFPA มุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่มีตัวเลข ศูนย์ ในด้านต่อไปนี้
จำนวนการเสียชีวิตของมารดา เป็น ศูนย์
จำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ เป็น ศูนย์
และ จำนวนการกระทำรุนแรงและเป็นภัยต่อเพศสภาพ รวไปถึงการขลิบอวัยวะเพศหญิงและการบังคับการแต่งงานในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้อง เป็น ศูนย์
ดังนั้น เราเรียกร้องในวันนี้ให้ทุกภาคส่วนที่อยู่แนวหน้าในการจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบที่มีต่อสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ตั้งแต่ต้นตอขอปัญหา และวางรากฐานของอนาคตที่เป็นทางเลือกที่ให้ความเท่าเทียมเสมอภาคกัน อนาคตที่สตรีทุกคนสามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างเท่าเทียม และทำให้พวกเธอปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้
อนาคตที่สตรีทุกคน ผู้ชายทุกคน เยาวชนหญิง-ชาย ทุกคนเข้าใจและได้รับสิทธิและมีความรู้ ศักยภาพในการจัดการวิถีชีวิตของตัวเองได้
ในท้ายนี้ ความไม่เท่าเทียมกันนั้นจริงๆ แล้วคือ เรื่องของ ศักยภาพ ที่กลุ่มคนเพียงน้อยนิดมี และกลุ่มคนอีกเป็นจำนวนมาก ไม่มี รายงานเรื่อง “โลกที่แตกแยก” ซึ่งเป็นรายงานที่ UNFPA ออกประจำปี ได้ส่งเสียงเรียกให้เรามอบศักยภาพให้สตรีในการที่จะควบคุมทางเลือกเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ของตัวเองและอนาคตของตัวเองได้ และเมื่อศักยภาพอยู่ในมือของสตรี “โลกที่แตกแยก” ก็จะไม่มีอีกต่อไป และด้วยศักยภาพดังกล่าว แทนที่จะเป็นความแตกแยกและความไม่เท่าเทียมกัน ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้นและโลกที่เสมอภาคกันสำหรับสตรีและเยาวชนหญิงก็จะเป็นรางวัลให้กับพวกเรา
ขอบคุณค่ะ
###