คุณอยู่ที่นี่

สตรีไม่ควรเสียชีวิตจากการคลอด
ทารกทุกคนต้องเกิดรอดและเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

เราจำเป็นต้องเร่งการลงทุนเรื่องการวางแผนครอบครัว
การดูแลสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิด

เพราะ การวางแผนครอบครัว คือ คือ การสร้างพลังแก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศ

 

วันที่ 11 กรกฎาคม 2560 – การวางแผนครอบครัวไม่เพียงแต่เป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนที่สร้างพลังให้แก่แต่ละบุคคล โดยเฉพาะสตรีและเด็กผู้หญิง แต่ยังช่วยชีวิตของสตรีและทารกแรกเกิดเป็นจำนวนมาก การวางแผนครอบครัวมีความจำเป็นมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างประเทศทั้งในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิคและทั่วโลก และนี่เองเป็นที่มาของ หัวข้อของวันประชากรโลก 2560 นี้ “การวางแผนครอบครัว คือ คือ การสร้างพลังแก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศ” ที่เน้นย้ำความสำคัญของการวางแผนครอบครัวแบบสมัครใจ (voluntary family planning) ภายใต้สิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิดด้วย

 

แนววิธีปฏิบัติบนพื้นฐานเรื่องสิทธิ

 

แนววิธีปฏิบัติบนพื้นฐานเรื่องสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวเป็นวิธีที่ทาง UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ให้การสนับสนุนมาเป็นระยะเวลานานและใช้ได้ผลเป็นอย่างดี

 

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา สตรีจำนวนหลายล้านคนในเอเซียและแปซิฟิคและทั่วโลกได้รับการส่งเสริมศักยภาพจากการมีบุตรในจำนวนที่น้อยลงและเริ่มต้นชีวิตครอบครัวในอายุที่มากขึ้นทำให้มีโอกาสได้เรียนจบการศึกษาในโรงเรียน ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ก้าวข้ามกับดักความยากจนและเข้าสู่กระบวนการสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ

 

ทั้งนี้ คุณโยริโกะ ยาสุกาวา ผู้อำนวยการ UNFPA สำนักงานภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค ได้กล่าวว่า “ความสามารถของแต่ละบุคคลในการวางแผนเวลา และ ขนาด ของครอบครัวของตนเองเป็นตัวกำหนดการเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ที่มีผลอย่างมากต่อเรื่องสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของสตรี เด็กผู้หญิง และทารกแรกเกิดด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่านี่เป็นสิทธิ [ด้านสุขภาวะทางเพศ] ที่หลายคนต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา และเป็นสิทธิที่เรายังต้องการการสนับสนุนและคนที่จะเป็นกระบอกเสียงอย่างแข็งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีกระแสการเมือง สังคมเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยมที่มุ่งจำกัดสิทธิของผู้คนโดยเฉพาะสตรีในการตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ มีเมื่อใดและจำนวนกี่คน”

 

ความต้องการที่ไม่สัมฤทธิ์สำหรับการคุมกำเนิด (Unmet need) ยังคงมีสูงและไม่ได้ผลตามคาด

 

การใช้การคุมกำเนินสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากร้อยละ 36 ในพ.ศ. 2513 เป็นร้อยละ 64 ในปี พ.ศ. 2560 นี้ แต่ยังมีสตรีอีก 214 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ยังคงใช้วิธีการวางแผนครอบครัวที่ไม่ปลอดภัยและขาดประสิทธิผล

 

สตรีเหล่านี้ที่ยังคงมีความต้องการที่ไม่สัมฤทธิ์สำหรับการคุมกำเนิด ส่วนมากอาศัยอยู่ใน 69 ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนที่สุดในโลก โดยจำนวนมากถึง 70 ล้านคนอาศัยอยู่ในแถบเอเซียใต้ 

 

ณ ปัจจุบัน ทั่วโลกในแต่ละปีมีสตรีมากถึง 308,000 รายที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่มาจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร  โดยในจำนวนนี้เป็นสตรีจากทวีปเอเซียและแปซิฟิคมากถึง 85,000 ราย นอกจากนี้ คาดประมาณว่ามีทารกเสียชีวิตในเดือนแรกหลังจากการคลอดของมารดามากถึง 2.7 ล้านคน โดย 1.3 ล้านคนมาจากทวีปเอเซียและแปซิฟิค

 

 

 

การลงทุนที่ไม่มากแต่ได้ผลในการรักษาชีวิตของมารดาและทารก

 

วิกฤติการเสียชีวิตของมารดาและทารกนี้สามารถป้องกันได้จากการจัดหาอุปกรณ์และบริการการวางแผนครอบครัวและการให้บริการดูแลสุขมารดาและทารกแรกเกิดในพื้นที่ที่มากขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยชีวิตคนได้เป็นอีกจำนวนล้านๆ คน และโดยเหตุนี้ ความจำเป็นในการลงทุนนี้จึงไม่ได้สูงจนเกินไปเลย

 

รายงานจากสถาบันกัตมาเชอร์ (Guttmacher) เรื่อง “ลงทุนเพิ่ม” คาดประมาณว่าค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 8.40 ดอลลาร์ต่อปีต่อคนในภูมิภาคกำลังพัฒนาในเรื่องการคุมกำเนิดและสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิดจนถึงที่จำนวน 52.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จะทำให้เกิดผลดีดังต่อไปนี้

·      การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจลดลง 67 ล้านครั้ง

·      การเกิดที่ไม่ได้วางแผนลดลง 23 ล้านครั้ง

·      การทำแท้งลดลง 36 ล้านครั้ง

·      การเสียชีวิตของทารกแรกเกิดลดลง 2.2 ล้านคน (จาก 2.7 ล้าน เหลือเพียง 541,000)

·      การเสียชีวิตของมารดาลดลง 224,000 ราย (จาก 308,000 เหลือ 84,000 ราย)

 

การลงทุนในบริการด้านการคุมกำเนิดสามารถลดจำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดต้นทุนด้านสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิดลงได้ แต่ละดอลลาร์ที่ลงทุนเพิ่มเพื่อสนับสนุนบริการคุมกำเนิดที่เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันจะทำให้ต้นทุนที่มาจากการตั้งครรภ์ลดลงได้ถึง 2.30 ดอลลาร์

 

การวางแผนครอบครัวและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) – การต่อสู้กับความยากจน การไปถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ และการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ

 

คุณโยริโกะ ยาสุกาวา ได้กล่าวว่า “หัวข้อของวันประชากรโลกในปีนี้เป็นเสียงสะท้อนภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปีพ.ศ. 2573 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสำเร็จในการเข้าถึงการวางแผนครอบครัวที่ได้ผลดีและบริการด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นเป้าหมายหลักภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการสร้างประโยชน์ต่อยอดจากความสำเร็จในทศวรรษที่ผ่านมาและยังเป็นการรับรู้ถึงช่องว่างในการให้บริการดังกล่าวที่ยังคงขาดอยู่ในหลายๆ พื้นที่ ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ควรสตรีคนใดเลยที่ควรเสียชีวิตจากการคลอด และทารกทุกคนต้องเกิดรอดและเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ การลงทุนเรื่องการวางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิดเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด”

 

การวางแผนครอบครัวมีความสำคัญมากที่จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 1 ที่มุ่งขจัดความยากจน การวางแผนครอบครัวยังเป็นกุญแจเพื่อบรรลุเป้าหมายอื่นๆ เช่น การขจัดความหิวโหย การสนับสนุนให้มีสุขภาพดี และมีความเท่าเทียมกันทางเพศ

 

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีมากในการใช้การวางแผนครอบครัวอย่างจริงจังในทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนการมีบุตรเฉลี่ยต่อครอบครัวลดลงน้อยกว่า 2 คนจากจำนวนเฉลี่ย 7 คน ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในความสำเร็จนี้ในภูมิภาคอาเซียน จากการใช้การวางแผนครอบครัวคู่ไปกับนโยบายและการดำเนินการในด้านอื่นๆเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร โดยรวมไปถึง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น การสร้างความแข็งแกร่งของสตรีในที่ทำงาน

 

“ความสำเร็จของประเทศไทยมีความเด่นชัด โดยมีแนวการปฏิบัติที่ได้ผลดีในการวางแผนครอบครัว โดยได้แบ่งปันความสำเร็จนี้กับประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำนวนมาก” ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทน UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าว

 

“ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังมุ่งดำเนินการกับความท้าทายที่ยังมีอยู่ เช่น การลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโดยมุ่งให้ความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษารอบด้านให้กับเด็กตั้งแต่ปฐมวัย การให้คนหนุ่มสาวเข้าถึงการคุมเนิดได้เพิ่มมากขึ้น และการสร้างหลักประกันให้กับแม่วัยรุ่นในการได้รับการศึกษาได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าศักยภาพของทุกคนจะได้รับการเติมเต็มอย่างเต็มที่ เหล่านี้เองเป็นเนื้อหาสำคัญที่ระบุในพ.ร.บ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา โดยการลงทุนในการวางแผนครอบครัวแบบสมัครใจภายใต้กรอบกฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดความมั่งคั่งแก่ทุกคนและนำไปสู่การรักษาสัญญาภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”

ข้อมูลสำหรับสื่อ

·      สาส์นวันประชากรโลก พ.ศ. 2560 การวางแผนครอบครัว คือ การสร้างพลังแก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศ  https://goo.gl/vepEZc

·      การประชุมสุดยอดเรื่องการวางแผนครอบครัว 2020 - http://www.familyplanning2020.org/

·      รายงาน  เรื่อง “ลงทุนเพิ่ม (2560)” – การลงุทนด้านการคุมกำเนิดและสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิด ของสถาบัน Guttmacher http://bit.ly/2t4GuGX

·      รายละเอียดเรื่อง โครงการปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (ICPD Programme of Action) www.unfpa.org/icpd         

 

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

กุลวดี สุมาลย์นพ 08.1917.5602 sumalnop@unfpa.org