Go Back Go Back
Go Back Go Back

สถานการณ์ประชากรโลกปี 2563 เผชิญหน้ากับวิกฤตเงียบที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง

สถานการณ์ประชากรโลกปี 2563 เผชิญหน้ากับวิกฤตเงียบที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง

News

สถานการณ์ประชากรโลกปี 2563 เผชิญหน้ากับวิกฤตเงียบที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง

calendar_today 30 June 2020

สถานการณ์ประชากรโลกปี 2563 

เผชิญหน้ากับวิกฤตเงียบที่เกิดในชุมชนและการปฏิบัติที่อันตรายต่อผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง

รายงานสถานการณ์ประชากรโลกปี 2563 โดย UNFPA เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งการขลิบอวัยวะเพศหญิง การบังคับการแต่งงานในเด็ก/การอยู่กินกันก่อนอายุ 18 ปี และการปฏิบัติอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

 

ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์ประชากรโลก ปี 2563 (State of World Population 2020) โดย UNFPA หน่วยงานของสหประชาชาติที่รณรงค์เรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ เปิดเผยว่า ทุกๆ ปีมีเด็กผู้หญิงหลายล้านคนถูกกระทำจากการปฏิบัติที่เป็นอันตราย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยการกระทำเหล่านี้อยู่ภายใต้การรับรู้และยินยอมจากครอบครัว เพื่อนและชุมชนของพวกเธอ

 

ตามรายงานของ UNFPA การปฏิบัติที่เป็นอันตรายอย่างน้อย 19 อย่างที่รวมไปถึง การนำเตารีดมาทับเต้านม การทดสอบความบริสุทธิ์ถือว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ รายงานฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอการปฏิบัติ 3 ด้านหลักๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิงและวัยรุ่นหญิง นั่นคือ การขลิบอวัยวะเพศหญิง การบังคับการแต่งงานในเด็ก/ การอยู่กินกันก่อนอายุ 18 ปี และการมีค่านิยมอคติต่อลูกสาวอย่างรุนแรงและให้คุณค่าแก่ลูกชายมากกว่า

 

ดร. นาตาเลีย คาเนม ผู้อำนวยการบริหารของ UNFPA กล่าวว่า “การปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อเด็กผู้หญิงก่อให้เกิดการบาดแผลที่เจ็บล้ำและยาวนาน เป็นการปล้นสิทธิในการเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่

 

ปีนี้ เด็กผู้หญิงประมาณ 4.1 ล้านคนจะถูกตัดอวัยวะเพศหญิง ทุกวันนี้ ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 33,000 คนจะถูกบังคับให้แต่งงานโดยเฉพาะกับผู้ชายที่อายุมากกว่า นอกจากนี้ ค่านิยมลูกชายมากกว่าลูกสาวในบางประเทศได้กระตุ้นให้เกิดการเลือกเพศแบบอคติหรือการละเลยลูกสาวอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “ผู้หญิงหายไป” มากถึง 140 ล้านคน

 

การปฏิบัติที่เป็นอันตรายบางอย่างกำลังจางหายไปในประเทศที่มีการกระทำเหล่านี้มากที่สุด แต่เนื่องจากการเติบโตของประชากรในประเทศเหล่านี้ จำนวนเด็กผู้หญิงที่จะตกอยู่ภายใต้อันตรายเหล่นี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในทศวรรษที่กำลังจะมาถึงหากไม่มีการดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วน

 

ประเทศที่ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีหน้าที่ยุติอันตรายไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายเด็กหญิงโดยสมาชิกในครอบครัว ชุมชนทางศาสนา ผู้ให้บริการการดูแลสุขภาพ หรือสถานประกอบการเอกชน หรือสถาบันของรัฐ ทั้งนี้ หลายประเทศกำหนดมาตรการทางกฎหมาย แต่กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ

 

จากประสบการณ์และการวิจัยในทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่เกิดจากระดับล่างหรือรากหญ้าขึ้นไปถึงระดับบนนั้นดีกว่าเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ดร.นาตาเลียกล่าวว่า “เราต้องจัดการกับปัญหาที่สาเหตุโดยเฉพาะบรรทัดฐานเพศที่ลำเอียง เราต้องทำงานให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเข้าใจความเสียหายของการกระทำเหล่านี้ที่มีต่อวัยรุ่นหญิง และที่จะเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมจากการหยุดการกระทำเหล่านี้เสีย”

 

รายงานฯ ฉบับนี้ยังเน้นอีกด้วยว่าต้องมีการรื้อเศรษฐกิจและระบบกฎหมายที่สนับสนุนการกระทำที่เป็นอันตรายเหล่านี้เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนกฎเกณฑ์การสืบทอดทรัพย์สินมรดกสามารถกำจัดแรงจูงใจของครอบครัวที่ต้องการลูกชายมากกว่าลูกสาวได้ และยังช่วยกำจัดการบังคับการแต่งงานหรือการอยู่กินกันในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย

 

ในประเทศไทย การอยู่กินกันของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี[1]ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการแต่งงานในเด็กเกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรมและบรรทัดฐานของชุมชน การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการอยู่กินกันในเด็กพบมากในชุมชนอนุรักษ์นิยม แต่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในชุมชนลักษณะดังกล่าวเสมอไป ทั้งนี้ การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีแห่งชาติ หรือการสำรวจ MICS ที่ดำเนินการในปี 2558 แสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นกลุ่มอายุ 15 ปีในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 4 ที่อยู่กินกันก่อนอายุ 18 ปี ในขณะที่วัยรุ่นอายุ 18 ปีคิดเป็นร้อยละ 23 ที่อยู่กินกันแล้ว เราต้องร่วมกันยุติการเปิดช่องให้มีการอยู่กินกันก่อนอายุ 18 ปีเพราะนี่เป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นอันตราย นั่นคือ เป็นอุปสรรคที่ทำให้วัยรุ่นหญิงไม่ได้เข้าถึงการพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

 

 

รายงานฯ ฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าการยุติการบังคับการแต่งงานในเด็กและการยุติการขลิบอวัยวะเพศหญิงจะเป็นไปได้ภายในอีก 10 ปีโดยการปรับให้เด็กผู้หญิงได้อยู่ในโรงเรียนนานขึ้น โดยการสอนทักษะชีวิต และโดยสนับสนุนให้ผู้ชายและเด็กผู้ชายมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การลงทุนประมาณ 1 แสน 5 พันล้านบาท หรือ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจนถึงปี 2573 จะกำจัดการกระทำที่เป็นอันตรายนี้ได้ นำไปสู่การสิ้นสุดความทุกข์ทรมานของเด็กหญิงมากถึง 84 ล้านคน

 

ในขณะที่มีความคืบหน้าในการยุติการกระทำที่เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นทั่วโลก การระบาดใหญ่ของโควิด19 มีผลในเชิงลบต่อความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์ล่าสุดเผยให้เห็นว่าหากงานบริการด้านต่างๆ ยังคงปิดตัวลงเป็นเวลาหกเดือน วัยรุ่นหญิงอีก 13 ล้านคนอาจถูกบังคับให้แต่งงาน และวัยรุ่นหญิงอีก 2 ล้านคนอาจต้องเผชิญกับการถูกขลิบอวัยวะเพศหญิงจากนี้ไปจนถึงปี 2573

 

“การแพร่กระจายของการกระทำที่เป็นอันตรายและการระบาดใหญ่ของโควิด19 ทำให้งานของเรายากขึ้นและเร่งด่วนมากขึ้นเนื่องจากมีผู้หญิงจำนวนมากที่ตกอยู่ในความเสี่ยง เราจะไม่หยุดการทำงานจนกว่าวัยรุ่นหญิงทุกคนจะได้มาซึ่งสิทธิ ทางเลือกและร่างกายที่กำหนดได้ด้วยตนเอง” ดร.นาตาเลียกล่าวทิ้งท้าย

 

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานฯ กรุณาติดต่อ:

กุลวดี สุมาลย์นพ ผู้เชี่ยวชาญสื่อสารองค์กร UNFPA, sumalnop@unfpa.org

 

อ่าน รายงานสถานการณ์ประชากรโลก ปี 2563  https://www.unfpa.org/swop-2020, https://thailand.unfpa.org/en/SWOP2020-vdo  

Remote video URL

 


[1] ดูคำจำกัดความเรื่องการแต่งงานในเด็กได้ที่เว็บไซด์ UNFPA https://bit.ly/2YGXEM6

สถานการณ์ประชากรโลกปี 2563 #Againstmywill