กรุงนิวยอร์ก / กรุงเทพฯ / กัวลาลัมเปอร์, 10 เมษายน 2562 – รายงานสถานการณ์ประชากรโลกประจำปี 2019 โดย UNFPA หรือกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ เผยถึงความเคลื่อนไหวระดับนานาชาติด้านสิทธิและสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ในช่วงทศวรรษ 1960 ว่าได้เปลี่ยนโฉมหน้าชีวิตของผู้หญิงหลายร้อยล้านคนโดยเพิ่มศักยภาพของพวกเธอในการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับร่างกายและอนาคตของตนเอง แต่กระนั้นแม้ว่าเรื่องสิทธิฯ ดังกล่าวจะมีความก้าวหน้าไปมากในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ก่อตั้ง UNFPA หน่วยงานของสหประชาชาติที่รณรงค์เรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิสุชภาวะทางเพศ ประชาคมโลกยังต้องเผชิญกับหนทางอีกยาวไกลในการจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและความไม่เสมอภาคเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิและทางเลือกด้านสุขภาวะทางเพศได้
ในการเดินทางไปสู่สิทธิและทางเลือก ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญกับอุปสรรคทางสังคมและเศรษฐกิจในทุกก้าวเดิน ทั้งนี้ การรวมตัวกันของภาคประชาสังคม นักเคลื่อนไหวและองค์กรต่าง ๆ รวมไปถึง UNFPA ได้ช่วยขจัดอุปสรรคเหล่านั้น
ความพยายามของกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ทำให้จำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจและการเสียชีวิตของมารดาลดลงอย่างมาก และได้เตรียมหนทางให้กับคนอีกเป็นจำนวนหลายล้านได้มีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิผลมาก รายงานสถานการณ์ประชากรโลก ที่มีชื่อว่า “การตามหาสิทธิและทางเลือกให้กับทุกคนฺ” ได้กล่าวไว้
รายงานฉบับนี้ได้ติดตามความคืบหน้าเรื่องสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ในช่วงการครบรอบที่สำคัญ 2 เหตุการณ์ นั่นคือการครบรอบ 50 ปีของ UNFPA ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 ในฐานะที่เป็นซึ่งเป็นหน่วยงานแรกของสหประชาชาติที่ทำงานด้านการเติบโตของประชากรและความต้องการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ยังครบรอบ 25 ปีของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (ICPD) ที่จัดขึ้นปีพ.ศ. 2537 โดยมีรัฐบาลจาก 179 ประเทศเรียกร้องให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลด้านอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างครอบคลุม ซึ่งรวมไปถึงการว่างแผนครอบครัวแบบเต็มใจ การคลอดและการดูแลบุตรที่ปลอดภัย โดยเน้นสิทธิและทางเลือกของปัจเจกเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้
รายงานสถานการณ์ประชากรโลกฉบับนี้ได้เสนอถึงความสำเร็จมากมายตั้งแต่ปีพ.ศ.2512 เมื่อมองดูภาพรวมของโลก อัตราการเกิดเฉลี่ยต่อผู้หญิงหนึ่งคนอยู่ที่ 4.8 เมื่อเทียบกับ 2.9 ในปีพ.ศ. 2537 และ 2.5 ในปัจจุบัน อัตราการเกิดของประชากรในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดลดลงจาก 6.8 ในปีพ.ศ.2512 เป็น 5.6 ในปีพ.ศ. 2537 และ 3.9 ในปีพ.ศ. 2562 จำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์และสาเหตุการคลอดบุตรลดลงจาก 369 ต่อ 100,000 การเกิดมีชีพในปีพ.ศ. 2537 เป็น 216 ในปีพ.ศ. 2558 นอกจากนี้ ผู้หญิงร้อยละ 24 ใช้ยาคุมกำเนิดที่ทันสมัยฟเมื่อปีพ.ศ. 2512 เทียบกับปีพ.ศ. 2537 ที่ร้อยละ 52 และปีพ.ศ. 2562 ร้อยละ 58
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้หญิงอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ นี่รวมถึงผู้หญิงและวัยรุ่นหญิงมากกว่า 200 ล้านคนซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชียและแปซิฟิก พวกเธอต้องการใช้สิทธิเพื่อเลือกได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ มีกี่คนและกับใคร แต่ทว่าพวกเธอไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการการคุมกำเนิดที่ทันสมัยได้
ดร.นาตาเลีย คาเนม, ผู้อำนวยการ UNFPA กล่าวว่า “ถึงเเม้รูปแบบการคุมกำเนิดมีเพิ่มมากขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เเต่ผู้หญิงกว่าร้อยล้านคนยังคงไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดรวมถึงทางเลือกในการเจริญพันธุ์ที่มาพร้อมกับการคุมกำเนิด ปราศจากการเข้าถึงการคุมกำเนิด พวกเธอจะขาดอำนาจการตัดสินใจเรื่องสิทธิทางร่างกายว่าควรจะตั้งครรภ์หรือไม่ หรือจะตั้งครรภ์ในช่วงเวลาใด การขาดพลังนี้จะทำให้ผู้หญิงไม่สามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้เพราะพลังเหล่านี้ส่งผลในด้านต่างๆ ของชีวิตพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา รายได้ และความปลอดภัย”
รายงานสถานการณ์ประชากรในปีนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของผู้หญิงในการตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิสุขภาวะทางเพศที่การคุมกำเนิดและการดูแลสุขภาพ โดยข้อมูลจาก 51 ประเทศซึ่งรวมไปถึงผู้หญิงไทยด้วยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงร้อยละ 57 ที่แต่งงานแล้วหรือมีอยู่ในความสัมพันธ์สามารถตัดสินใจเลือกเรื่องต่างๆ ทุกเรื่องได้ด้วยตัวเอง นี่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเสริมพลังให้ผู้หญิงทุกคนให้มีสิทธิและการตัดสินใจได้ในทุกเรื่องทุกแง่มุมที่มีความใกล้ชิดที่สุดในชีวิตของพวกเธอ
รายงานฯ ฉบับนี้ยังกล่าวถึงผู้นำหรือแชมเปียนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง 15 คน ซึ่งหนึ่งในบุคคลเหล่านั้นคือ คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนและผู้นำการเปลี่ยนแปลงเรื่องการวาแผนครอบครัวและสุขภาวะทางเพศมาสู่สังคมไทย
ติดตามอ่านรายงานสถานการณ์ประชากรโลกปี 2019 ได้ที่ https://thailand.unfpa.org/th/publications/swop2019-th