Go Back Go Back
Go Back Go Back
Go Back Go Back

“โตให้ทันวัยรุ่น” จากอดีตแกนนำเยาวชน สู่แกนสนับสนุนส่งเสริมพลังเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง

 “โตให้ทันวัยรุ่น” จากอดีตแกนนำเยาวชน สู่แกนสนับสนุนส่งเสริมพลังเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง

News

“โตให้ทันวัยรุ่น” จากอดีตแกนนำเยาวชน สู่แกนสนับสนุนส่งเสริมพลังเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง

calendar_today 12 October 2023

Empowering our Youth Project
การประชุมเชิงปฏิบัติการและปฐมนิเทศโครงการ "เสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม"

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิรักษ์ไทยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและปฐมนิเทศโครงการ "เสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม" (Empowering our Youth Project , Access to Sexual and Reproductive Health and Rights, and Family Planning for All) สนับสนุนโดย Reckitt และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประเทศไทย มุ่งเน้นให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดี มีความรู้ และเข้าถึงถุงยางอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันได้อย่างสะดวกใจ โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายเยาวชนในช่วงอายุระหว่าง 15 - 25 ปี จำนวน 7,300 คนทั่วจังหวัดเชียงใหม่ จากสถานศึกษา 5 แห่ง ประกอบด้วย 

  1. ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 
  2. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่  
  3. แกนนำเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ อ.ไชยปราการ และ อ.ฝาง 
  4. โรงเรียนสันทรายวิทยาคม 
  5. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 60, จังหวัดเชียงใหม่ และ  
  6. กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (Migrants Assistance Programme หรือ MAP) 

 

เริ่มจากเสวนา “ข้อมูลสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นตามบริบทเยาวชน จ.เชียงใหม่” โดยผู้แทนเยาวชนจากเครือข่ายชาติพันธุ์  สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ภาคประชาสังคมจากคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ภาคเหนือ –และสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐ

 

ชินท์ณภัทร โต๊ะเส็น รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย (คนกลาง)

“ทางสภาเด็กและเยาวชนฯ ได้ทำโครงการ “รักในวัยเรียน” ซึ่งเป็นหารทำงานร่วมกับสายด่วน 1300 และโรงพยาบาลตำรวจ โดยใช้คู่มือพัฒนาเยาวชนเพื่อการกำกับติดตามการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือ I D-Sign มาประยุกต์ใช้ทำกิจกรรมเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตระเวนไปจัดกิจกรรมต่างๆ ทั่วประเทศไทย พร้อมทั้งจะมีการทำเนื้อหาหารสื่อสารที่เข้าใจง่ายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย” – ชินท์ณภัทร โต๊ะเส็น รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยกล่าว

 

 

เวทีครั้งนี้ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย เห็นได้จากกิจกรรมการทบทวนการทำงานเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์  ได้แบ่งกลุ่มตามชุมชนและสถานศึกษาต้นสังกัด เพื่อแลกเปลี่ยนใประเด็นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การค้นหาสถานที่รวมตัวของวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและการท้องไม่พร้อม สถานที่ให้บริการสำหรับวัยรุ่นในโรงเรียนและในชุมชนระบบบริการที่รองรับ ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการ และข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยมีกระบวนกรเป็นอดีตแกนนำเยาวชนจากมูลนิธิรักษ์ไทยที่ได้รับการพัฒนาทักษะและศักยภาพ บ่มเพาะจนได้รับโอกาสเป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในทุกเสียงของเยาวชนของทุกกลุ่ม ทุกเพศได้รับฟังอย่างเข้าใจและนำไปพัฒนาแผนงานโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มเยาวชนอย่างแท้จริง 

 

 

พัชรีวรรณ  ลมลื่น หรือ ไซอิ๋ว ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ภาคสนาม น้องเล็กของทีมงานรักษ์ไทยที่ดูแลโครงการนี้เล่าถึงการทำงานกับวัยรุ่นที่ผ่านมา โดยเริ่มจากเป็นแกนนำการรณรงค์ประเด็นท้องในวัยรุ่น และรณรงค์ให้ความรู้เรื่อง..การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (https://thailand.unfpa.org/th/ap-act)  ตั้งแต่ปี 2560 และทำกิจกรรมด้านสิทธิมาเรื่อยๆ จนได้มาร่วมงานกับโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการต่อยอดให้กับกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเครือข่ายภาคีในเชียงใหม่ และอีกข้อท้าทายคือการร่วมงานกับแกนนำวัยรุ่นซึ่งเราเคยเป็นมาก่อน  ทำให้เข้าใจในบริบทและสถานการณ์ของการเป็นแกนนำวัยรุ่นที่ทำหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกัน ต้องอาศัยพลังหนุนเสริมและโอกาสจากผู้ใหญ่รอบข้างอย่างเข้าใจและมั่นใจในศักยภาพของวัยรุ่น ซึ่งจะเกิดการดำเนินงานที่บรรลุเป้าหมายและเข้าถึงวัยรุ่นอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

 

“จากประสบการณ์ทำงานอาสาสมัครในประเด็นเด็กและผู้หญิงมาตั้งแต่มัธยมปลายจนมาถึงปัจจุบัน พบว่า ผู้หญิงชาติพันธุ์ได้รับความรุนแรงจากครอบครัวมากที่สุด และอายุของผู้ถูกกระทำก็ลดลงเรื่อยๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักให้เด็กผู้หญิงออกจากบ้าน กลายเป็นแม่วัยรุ่นในที่สุด ซึ่งแม่วัยรุ่นมีความต้องการในการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ของช่วงวัยที่จะเป็นผู้ใหญ่ จึงจะสามารถวางแผนชีวิตได้อย่างเหมาะสม เพิ่มแรงจูงใจที่จะเรียนต่อหรือประกอบอาชีพ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้คำปรึกษาที่ต้องรับฟังอย่างเข้าใจเพื่อจะช่วยกะเทาะ กระตุ้นให้พวกเขาเห็นแง่มุมของสังคมที่กว้างขึ้น และเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นเพื่อกลับสู่ชุมชนและเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป” ณัฐริยา โสสีทา หรือ กุ๊กกิ๊ก เจ้าหน้าที่ภาคสนามโครงการฯ กล่าวเสริม 

 

ท้ายสุด ดารารัตน์  รวมสุข หรือ น้ำตาล เจ้าหน้าที่ภาคสนามโครงการฯ ที่พัฒนาทักษะจากแกนนำวัยรุ่นระดับจังหวัดพะเยา  จนได้ร่วมงานกับมูลนิธิรักษ์ไทยในปัจจุบัน กล่าวว่า  รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพราะรักษ์ไทยทำงานกับวัยรุ่นทุกกลุ่มทุกเพศใน จ.เชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง และได้เน้นถึงจุดแข็งของเครือข่ายกลุ่มเยาวชนฯ ที่ได้ชักชวนให้มาร่วมเวทีในครั้งนี้   สิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือเสียงของวัยรุ่นที่จะเป็นข้อมูลและองค์ความรู้ที่สำคัญ ซึ่งโครงการนี้จะฟังและนำทุกเสียงไปพัฒนา ต่อยอดและเติมเต็มในทุกวัตถุประสงค์ ไม่จะเป็นการเข้าถึงบริการรับถุงยางอนามัยและด้านสุขภาวะอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งตัวแทนวัยรุ่นยังย้ำว่า ต้องการสถานบริการที่เป็นมิตรและปลอดภัย รวมถึงช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดด้วย ที่พวกเขามีส่วนร่วมที่จะเลือกออกแบบการสื่อสารส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังกลุ่มเพื่อนด้วยกันเอง ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนพึงมี ซึ่งพี่ๆ จากโครงการฯ รวมถึงหน่วยงานจะช่วยกันสนับสนุนให้เกิดการบริการและเข้าถึงวัยรุ่นอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมอย่างแท้จริง 

 

ณัฐริยา โสสีทา (ซ้ายมือ)  ดารารัตน์  รวมสุข (คนกลาง) และพัชรีวรรณ  ลมลื่น (ขวามือ) คณะเจ้าหน้าที่โครงการฯ 

 

 

เกี่ยวกับโครงการฯ 

โครงการเสริมพลังเยาวชนเข้าถึงอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้ทั่วถึงอย่างเท่าเทียม (Empowering our Youth Project , Access to Sexual and Reproductive Health and Rights, and Family Planning for Allได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัท Reckitt และ UNFPA ประเทศไทย (เริ่มปี 2022-2026) เพื่อส่งเสริมพลังวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะและ ศักยภาพในการดูแลสุขภาพทางเพศของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ และเป้าหมายในข้อที่ 5 ว่าด้วยการบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิงทุกคน โดยเน้นวัยรุ่นกลุ่มอายุ 15 - 19 ปี และในกลุ่มเปราะบางและผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 15 - 49 ปี โดยทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ (จ.แพร่ และ จ.เชียงใหม่) เนื่องด้วยมีความหลากหลายของประชากรสูง โดยเฉพาะความเป็นกลุ่มแรงงานในเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และพื้นที่เข้าถึงยากของแต่ละจังหวัด