คุณอยู่ที่นี่

ความร่วมมือ “ภาคีสนับสนุนศักยภาพและส่งเสริมสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของเยาวชนที่มีความพิการ”

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา UNFPA และองค์กรภาคีซึ่งได้แก่ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ “ภาคีสนับสนุนศักยภาพและส่งเสริมสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของเยาวชนที่มีความพิการ” เพื่อสนับสนุนศักยภาพของเยาวชนที่มีความพิการให้ได้เข้าถึงสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559

กลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในภาวะเปราะบาง (vulnerable adolescent) เผชิญกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาส (disadvantaged) ถูกแปลกแยกออกจากกระแสหลักทางสังคม-เศรษฐกิจ ทางการเข้าถึงข้อมูลและการบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ และโอกาสในด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ของ UNFPA ปีพ.ศ. 2561 – 2564 ได้ระบุว่า กลุ่มคนด้อยโอกาสรวมถึงบุคคลที่มีความความพิการด้วย ดังนั้น คนหนุ่มสาวที่มีความพิการจัดว่ามึความเสี่ยงในด้านต่างๆ รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี / เอดส์ ความรุนแรงจากเพศสภาพ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 วัยรุ่นมีสิทธิสำคัญอยู่ 6 ด้าน 1) สิทธิในการตัดสินใจโดยตนเอง 2)สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ 3) สิทธิในการได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 4) สิทธิในการรักษาความลับ ความเป็นส่วนตัว 5) สิทธิในสวัสดิการสังคม 6) สิทธิในการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

    

   

ดังนั้น ทาง UNFPA และองค์กรภาคีซึ่งได้แก่ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นพ้องกันว่าเยาวชนทุกคนรวมถึงเยาวชนที่มีความพิการต้องได้รับการส่งเสริมศักยภาพและสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ จึงตกลงร่วมมือกันเพื่อศึกษาและทบทวนสถานการณ์ ปัจจัยที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เยาวชนที่มีความพิการต้องเผชิญ รวมทั้งศึกษาถึงสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เยาวชนที่มีความพิการได้ใช้สิทธิและเครื่องมือ กลไกที่ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องและบริการที่มีอยู่ และจะนำผลการศึกษาที่ได้เสนอต่อผู้กำหนดนโยบายโดยเฉพาะเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การละเมิดสิทธิด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มีความบกพร่องต่อไป