กิจกรรมเส้นทางความเท่าเทียมทางเพศและการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ หรือ Gender Journey เป็นการริเริ่มโดย UNFPA ประเทศไทย และ UN WOMEN ได้เดินทางมาถึงจังหวัดนำร่องสุดท้ายของปีนี้ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ” สำหรับหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัด เพื่อสร้างขีดความสามารถและเพิ่มความตระหนักรู้เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังสตรี และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศให้กับหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯนี้ UNFPA ประเทศไทยได้นำเสนอข้อมูลความรู้ในประเด็นการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ การป้องกันการแสวงประโยชน์และการละเมิดทางเพศ อีกทั้ง UN WOMEN ได้เพิ่มเติมการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจของสตรี โอกาสการจัดซื้อ จัดจ้างสำหรับธุรกิจที่มีสตรีเป็นเจ้าของ และวิสาหกิจที่ตอบสนองต่อเพศสภาพ โดยคุณพีรดา ดุลยพีรดิส ผู้ประสานงานโครงการ ภาครัฐและเอกชน UN Women ได้กล่าวถึงการส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิงนั้นมีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ส่งเสริมให้ผู้หญิงและชุมชนมีความเข้มแข็ง รวมถึงยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังนำไปสู่เป้าหมายการความเท่าเทียมทางสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
“Gender Equality หมายถึงความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมทางเพศนั้นไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่คือเรื่องของมนุษย์ทุกคน ทุกเพศ และทุกวัยที่ต้องได้รับความเคารพและปกป้องสิทธิด้วยหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน” คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA Thailand กล่าว
“มิติทางสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้มีการทำงานเชิงรุกกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลายและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นข้อท้าทาย คณะทำงานมุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้มีสิทธิเข้าถึงการบริการและข้อมูลด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า” คุณหทัยรัตน์ ทองเขียว นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ จังหวัดแม่ฮ่องสอนเน้นย้ำในเสวนาประเด็น “โอกาสและข้อท้าทายในการบูรณาการประเด็นเพศภาวะในนโยบายองค์กร” พร้อมทั้งการอภิปรายกลุ่มร่วมกันระหว่างผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์อย่างรอบด้าน
อีกทั้ง ทาง UNFPA ประเทศไทย และ UN WOMEN ยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมศึกษางานที่ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนบริบทการทำงานในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรีและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงเสริมพลังให้กับผู้ผ่านพ้นความรุนแรงในพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรชาติพันธุ์ที่เป็นความท้าทายทางด้านภาษา วัฒนธรรมและความเชื่อที่ต้องทำงานบนหลักการด้านสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไปเพื่อคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่ม ทุกเพศและทุกวัย
ทั้งนี้ คุณสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทย เน้นย้ำถึงภารกิจ “Gender Journey” ที่เดินทางมาถึงจังหวัดสุดท้ายของปีนี้ ถึงการทำงานของ UNFPA ประเทศไทยร่วมกับรัฐบาลไทย หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานอื่นๆ ของสหประชาชาติโดยยึดหลักความเสมอภาคและเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยโดยคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย
อ่านรายงานข่าวที่:
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7949801
Photo collection/ อัลบั้มภาพกิจกรรม by UNFPA Thailand
Gender Journey2023, Mae Hong Song