ข่าวประชาสัมพันธ์
ไทย – ผู้บุกเบิกและผู้นำด้านประชากรและการพัฒนาของโลก
1 มิถุนายน 2563 -- ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวล้ำและเป็นผู้นำในการบรรลุเป้าหมายของประชากรและการพัฒนาในช่วง 25 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ได้รับการรับรองแผนปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศด้านประชากรและการพัฒนา (ICPD) ร่วมกับรัฐบาลอีก 178 แห่ง อย่างไรก็ตามประเทศยังคงให้คำมั่นที่จะเพิ่มความมุ่งมั่นในการพัฒนาประชากรและวาระการพัฒนาเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์และสอดคล้องกับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภายใต้กลยุทธ์การประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยจะดำเนินการให้ประชากรทุกคนเข้าถึงการคุมกำเนิดที่ทันสมัย มีคุณภาพ และปลอดภัยควบคู่ไปกับการบริการด้านข้อมูลและการบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ประเทศจะลดอัตราการตายของมารดาให้เหลือ 15 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คนภายในพ.ศ. 2573 โดยการให้บริการที่จำเป็นด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งบรรลุเป้าหมายลดการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นหญิงอายุ 15—9 ปีให้เหลือ 25 ต่อ 1,000 คนให้ได้ภายในพ.ศ. 2569 ตามที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและนโยบายการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ทั้งนี้ ดร. สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศคำมั่นสัญญานี้ในนามของรัฐบาลไทยในการประชุมสุดยอดไนโรบีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวาระครบรอบ 25 ปีของการประชุมระหว่างประเทศฯ ICPD
คำมั่นสัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นจากความสำเร็จและการทำงานอย่างหนักของประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสำเร็จด้านประชากรและการพัฒนานี้ได้รับการยอมรับอย่างมากในระดับสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีของไทยในเรื่องสุขภาพของมารดากับประเทศอื่นๆ ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในระดับประเทศเพื่อให้มั่นใจว่าประชากรโดยเฉพาะผู้หญิงนั้นมีสิทธิ์ได้รับและมีความสุขกับสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว รายงาน “ประชากรและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในประเทศไทย 25 ปีหลังจาก ICPD” ที่มีการเปิดตัวออนไลน์ร่วมกัน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยว่าจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านคนในพ.ศ. 2503 เป็น 10.7 ล้านคนในพ.ศ. 2558, 18.7 ล้านคนในพ.ศ. 2573 และ 23 ล้านคนในพ.ศ. 2593 ในขณะเดียวกันจำนวนประชากรอายุ 15-59 ปีเริ่มหดตัวเป็น 66.4 ล้านคนในพ.ศ. 2558 และคาดว่าจะลดลงเหลือ 58.7 ล้านคนในพ.ศ. 2573 และเหลือ 51.9 ล้านคนในพ.ศ. 2593 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยที่จำนวนผู้สูงอายุมีมากกว่าจำนวนประชากรเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีเมื่อพ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา นั่นเป็นสัญญาณที่น่าตกใจสำหรับประเทศที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ทุกๆ คนเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ รายงานยังอ้างถึงการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกโดย World Economic Forum พ.ศ.2561 ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 88 จาก 140 ประเทศในแง่ของความง่ายในการค้นหาพนักงานที่มีทักษะ สำหรับคุณภาพของการฝึกอบรมสายอาชีวะนั้นไทยอยู่ในอันดับที่ 75 ด้านทักษะดิจิทัลและชุดทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยไทยอยู่ในอันดับที่ 61 ผลลัพธ์เหล่านี้สอดคล้องกับจำนวนที่น้อยของผู้ใหญ่ในไทยที่มีการศึกษาอุดมศึกษาขึ้นไปซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 15.9 ในพ.ศ. 2559 (ILOSTAT) ทั้งนี้ ประเทศจะต้องเพิ่มความพยายามในการปรับปรุงทักษะของพลังแรงงานเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนทักษะที่ต้องการในการทำงานที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
“การพัฒนาทุนมนุษย์ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นแต่ยังเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกด้วย นี่เป็นเพราะความต้องการแรงงานที่มีทักษะมีเพิ่มมากขึ้นในขณะที่คนรุ่นใหม่มีจำนวนที่น้อยลงๆ นอกจากนี้ ยังมีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น มีจำนวนนักเรียนออกจากเรียนกลางคันมากขึ้น มีวัยรุ่นที่ไม่ทำงานและแม่วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น และยิ่งเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ขึ้นในปีนี้ ทำให้ประเด็นเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นเรื่องที่เร่งด่วนยิ่งขึ้น ทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเราจะต้องลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นและประชากรที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ที่รวมไปถึงผู้หญิงและเด็กผู้หญิงด้วย” มาร์เซล่า ซูอาโซ ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทยกล่าว
“UNFPA เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม คนหนุ่มสาว สถาบันการศึกษาและสื่อต่าง ๆ ร่วมมือกันเพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นนวัตกรรมและเป็นการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิและคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เตรียมการสูงวัยที่มีศักยภาพ มีสุขภาพที่ดี และความเป็นอยู่ที่ดี และเตรียมพร้อมกับสังคมที่มีคนหลากวัย ที่คนรุ่นใหม่และประชากรสูวัยมีส่วนสนับสนุน มีส่วนร่วมในสังคม รวมทั้งเข้าใจซึ่งกันและกันในการอยู่ร่วมกันในสังคม”
UNFPA สนับสนุนและร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับวัยรุ่น คนหนุ่มสาวในการแสดงความเห็น บอกถึงต้องการของพวกเขา ในการใช้สิทธิ และเข้าถึงข้อมูลที่เป็นมิตร สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานและเตรียมความพร้อมประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนที่เข้าสู่สังคมสูวัยแล้ว โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
อ่านรายงาน “ประชากรและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในประเทศไทย 25 ปีหลังจาก ICPD” ได้ที่ https://thailand.unfpa.org/th/25-years-ICPD