You are here

7 เมษายน 2563 วันอนามัยโลก “ปีแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์”

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และบทบาทของนางพยาบาลผดุงครรภ์ต่อสุขภาพมารดา

              ในปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้หญิงกว่า 6 แสนรายคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย โดยจากการคลอดร้อยละ 11 เกิดจากวัยรุ่นที่มีอายุ 10-19 ปี หากดูสถิติการคลอดจะเห็นว่าจำนวนการมีบุตรในประเทศไทยยิ่งลดลงในแต่ละปี แต่ไม่ว่าการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรจะมีจำนวนเท่าใด การให้การตั้งครรภ์เป็นที่ต้องการ การดูแลสุขภาพมารดาและการคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพภายใต้หลักการการประชุมนานาชาติด้านประชากรและการพัฒนา (ICPD-International Conference of Population and Development) และเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักที่ทาง UNFPA ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 หรือ 50 กว่าปีที่ผ่านมา

              ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดหนักของ COVID-19 บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะพยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์เป็นแนวหน้าในการดูแลผู้ป่วยทั้งที่ติดเชื้อ COVID-19 และผู้ที่ต้องการการบริการทางการแพทย์ในด้านอื่นๆ รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการการดูแลด้านสุขภาพมารดา การดูแลครรภ์ก่อนและหลังคลอด เหล่านี้ พยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์มีบทบาทและภาระหน้าที่ที่จะต้องให้แน่ใจว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกคนได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยทั้งระหว่าง ก่อนและหลังคลอดไม่หญิงตั้งครรภ์นั้นจะอยู่วัยใด ฐานะใด เชื้อชาติใด มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่

            ดังนี้เอง องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 7 เมษายนของทุกปี เป็น วันอนามัยโลก (World Health Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ส่งเสริมด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ได้กำหนดให้ปี 2563 เป็น “ปีแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์” อีกทั้งยังครบรอบ 200 ปีเกิดของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363) ผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่และยกระดับวิชาชีพพยาบาล

บทบาทของ UNFPA ในการสนับสนุนงานด้านพยาบาลและการผดุงครรภ์ในประเทศไทย

            ตลอด 48 ปีที่ผ่าน UNFPA ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและภาคีในภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงภาคประชาสังคม สถาบันวิชากร เยาวชน และสื่อในการสนับสนุนงานด้านพยาบาลและการผดุงครรภ์ในประเทศไทยมาโดยตลอดภายใต้ภาระกิจหลักคือ ทุกการตั้งครรภ์เป็นที่ต้องการ การคลอดทุกครั้งปลอดภัย และวัยรุ่นทุกคนต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่

            สุขภาพมารดาในประเทศไทยถือได้ว่าอยู่ในระดับที่ดี การเสียชีวิตของมารดามีน้อย และการดูแลครรภ์ก่อนและหลังคลอดมีระบบสาธารณสุขรองรับในทุกพื้นที่การปกครอง ประชากรในกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างทางสังคม เศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงเพื่อรับบริการได้อย่างทั่วถึง ความก้าวหน้านี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของชาวไทยที่มีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านพยาบาลศาสตร์เป็นพระผู้ให้เพื่อพัฒนาชีวิตพสกนิกรไทยผ่านงานด้านการวางแผนครอบครัว ทำให้งานการดูแลสุขภาพมารดาเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์

            ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนงานด้านการผดุงครรภ์และสุขภาพมารดา โดยเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตของมารดาที่ลดลงอย่างมาก โดยเมื่อปี 2523 อัตราการตายของมารดาอยู่ที่ 115 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ปี 2533 ตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือ 40 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน และปี 2558 อัตราการตายของมารดาอยู่ที่ 22 คนต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน

            นอกจากนี้ งานด้านการผดุงครรภ์ของไทยยังมีชื่อเสียงและได้การยอมรับมากในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาผ่านงานด้านความร่วมมือแบบใต้-ใต้และไตรภาคีที่ทางกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand’s International Cooperation Agency – TICA) และ UNFPA ได้ร่วมมือกันมานานกว่า 4 ทศวรรษ งานความร่วมมือนี้ ทำให้ประเทศไทยส่งบุคลากรด้านการผดุงครรภ์เพื่อถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญให้กับพยาบาลผดุงครรภ์ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งได้แก่ ภูฏาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การสร้างเครือข่ายสุขภาพมารดา (Safe motherhood network) ที่ประกอบไปด้วยบุคลากรทางด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์จากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค และงานวิชาการ “รายงานการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนในโครงการความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีระหว่าง UNFPA และรัฐบาลไทย” (link)

              เพื่อเป็นการเชิดชูงานพยาบาลและการผดุงครรภ์ในประเทศไทย WHO ร่วมกับ UN WOMEN และ UNFPA สนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสแสดงคำขอบคุณที่พยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์ที่กำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะที่ให้การดูแลสุขภาพให้กับหญิงตั้งครรภ์และช่วยให้การทำคลอดให้กับคุณแม่ทุกคนผ่านไปอย่างปลอดภัย ผ่านทางการแชร์ภาพเหล่านี้ทางโซเชียลมีเดีย https://www.facebook.com/UnfpaThailand/posts/2731813510263263 พร้อมทั้งกล่าวคำประทับใจของคุณต่อพยาบาลและพยาบาลผดุงครรภ์ และแฮชแทก #SupportNursesAndMidwives and #COVID19

นอกจากนี้ ทาง UNFPA ออกข้อปฏิบัติหลักเพื่อสุขภาพของมารดาในระหว่างสถานการณ์การระบาด COVID-19 เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้เป็นแนวทางได้

  • ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานของอาการข้างเคียงของไวรัส COVID-19 ที่มีผลต่อสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นระหว่างและหลังการตั้งครรภ์ควรถูกนำมาพิจารณาประกอบในการดูแลสุขภาพมารดา สิ่งที่สำคัญมากก็คือผู้หญิงทุกคนต้องเข้าถึงการทำคลอดอย่างปลอดภัย เข้าถึงการฝากครรภ์และการดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตรวจคัดกรองตามแนวทางและมาตรฐานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ สถานที่ที่เป็นศูนย์กลางการระบาดที่มีผลกระทบทำให้สตรีตั้งครรภ์ไม่สามารถเข้าถึงการบริการในการคลอด การทำคลอด และการให้นมบุตรได้
  • คงการให้บริการระบบสาธารณสุข: คงไว้ซึ่งบริการการให้ข้อมูลและบริการสิทธิและสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ (SRHR – sexual and reproductive health and rights) ปกป้องเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ จำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19

ข้อควรระวังในการดูแลสุขภาพมารดา

  • หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะประสบอาการข้างเคียงมากขึ้นจากการติดไวรัส COVID-19
  • การคุ้มครองบุคคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะนางพยาบาลผดุงครรภ์ พยาบาล สูตินารีแพทย์ และ วิสัญญีแพทย์มีความสำคัญอย่างเร่งด่วน มีผลต่อการช่วยชีวิตผู้คนในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19
  • การตั้งครรภ์และการคลอดอย่างปลอดภัยขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันการติดไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด

Social media: https://www.facebook.com/UnfpaThailand/posts/2723887211055893