You are here

กรอบความร่วมมือทางวิชาการ

เพื่อสนับสนุนการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้

ภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569

 

ความเป็นมา

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีการคลอดในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขพบว่า วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีคลอดบุตรเพิ่มขึ้นจากประมาณ 95,000 คน ในปี พ.ศ. 2546  เป็นประมาณ 104,300 คนในปี 2558 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา โดยในมาตรา 17(1) กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีอำนาจหน้าที่ ในการเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อคณะรัฐมนตรี  ซึ่งต่อมาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569  ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อยรวม 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม (2) ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดู สร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น (3) พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็ฯมิตร (4) พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น และ (5) ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้

เอกสารยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569  ระบุว่า ในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมักมีที่มาจากหลายหน่วยงาน และยังไม่มีการจัดการ รวบรวม  วิเคราะห์แจกแจง และนำเสนออย่างเป็นระบบ ตลอดจนยังขาดความสมบูรณ์ของข้อมูลบางด้าน เช่น ลักษณะทางประชากรของแม่วัยรุ่น จำนวนการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นต้น จึงไม่เอื้อต่อการพยากรณ์ทิศทางและการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงการปฏิบัติและการติดตามสถานการณ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ย่อยที่ 5 จึงมุ่งเน้นให้เกิดกลไกในการดำเนินงานบูรณาการทุกภาคส่วนหลักในการดำเนินงานทั้งด้านการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้อย่างเป็นรูปธรรม  ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระดับประเทศสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2560-2064 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA Country Programme Document for Thailand) ที่ได้กำหนดให้มีการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติที่จะสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของเยาวชน ผู้หญิง และประชากรกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นที่มาของการยกร่างกรอบความร่วมมือทางวิชาการฯ ฉบับนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง UNFPA สำนักงานประจำประเทศไทย และภาคีหน่วยงานที่ร่วมดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569  อนึ่ง กรอบความร่วมมือทางวิชาการฯ นี้ถือเป็นเอกสารตั้งต้นที่จะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับพัฒนาการของแผนความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของ UNFPA ต่อไป

ในการดำเนินงานระยะเริ่มต้นนี้ UNFPA ร่วมกับกรมอนามัยในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ ศาสตราจารย์ โรเจอร์ อิงแฮม ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยเรื่องสุขภาวะทางเพศ และสาสตราจารย์จากคณะสุขภาพและจิตวิทยาชุมชน มหาวิทยาลัยเซาป์แฮมตัน ประเทศอังกฤษ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการข้อมูลเชิงยุทธศาตร์และงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนและติดตามประเมินแผนงานเพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของอังกฤษในช่วงเวลาสิบปีระหว่างปี พ.ศ. 2542-2557 เป็นผู้ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานของไทยที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569    ซึ่งยุทธศาสตร์สิบปีว่าด้วยประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของรัฐบาลพรรคแรงงานของประเทศอังกฤษ นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่มีไม่มากนักของการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รัฐบาลอังกฤษประกาศใช้ยุทธศาสตร์นี้ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นความพยายามครั้งแรกของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนแผนงานที่พัฒนาจากการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ มีความครอบคลุมรอบด้าน มีกรอบเวลา งบประมาณ และการสนับสนุนจากผู้กำหนดนโยบายอย่างเพียงพอ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี การขับเคลื่อนนำโดยหน่วยงานส่วนกลาง หนุนโดยการลงมือปฏิบัติงานในระดับท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินงาน 4 เสาหลัก คือ ปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานท้องถิ่น พัฒนางานป้องกันให้ดีขึ้นด้วยการปรับปรุงการเรียนการสอนเรื่องเพศและสัมพันธภาพพร้อมกับเพิ่มการใช้บริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพของวัยรุ่น งานรณรงค์สาธาณะเพื่อสื่อสารถึงตัววัยรุ่นและพ่อแม่ผู้ปกครอง และปฏิบัติการร่วมเพื่อหนุนช่วยพ่อแม่วัยรุ่น นับตั้งแต่เริ่มนำยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงถึง 51% และมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ยากไร้ (deprived areas) ด้วย

วัตถุประสงค์

1)       เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนของการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการดำเนินงานเพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในประเทศอังกฤษอย่างได้ผล

2)       เพื่อระดมสมองและประยุกต์ใช้ความรู้และบทเรียนการทำงานเพื่อออกแบบการดำเนินงานบนฐานข้อมูลของยุทธศาสตร์ย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569

ผลที่คาดหวัง

หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนยุทธศาตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ ได้รับความรู้และบทเรียนจากประเทศอังกฤษเพื่อประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางดำเนินงาน โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการขับเคลื่อน ติดตามประเมินผลความคืบหน้าของการดำเนินงาน  ตลอดจนเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุด และเป้าหมายรายยุทธศาสตร์ภายใต้ยุทธศาสตร์สิบปีของประเทศไทย