คุณอยู่ที่นี่

กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต) จับมือกับ UNFPA Thailand (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวและปฐกถาพิเศษ เพื่อเดินหน้ายุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 - 2562 "Public-Private Partnership เพื่อรักปลอดภัย" ที่เน้นให้ "ภาครัฐ-เอกชน ร่วมสร้าง รักปลอดภัย" โดยสนับสนุนให้ทุกคู่รัก รักแนบชิด รักปลอดภัย รักใส่ถุงยาง

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในปาฐกถาพิเศษว่า สำหรับการจัดงานแถลงข่าวในวันนี้ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ที่ 4 ที่กำหนดอยู่ในยุทธศาสตรุ์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม รวมทั้ง นโยบาย กฎหมาย หรือกฎระเบียบ ตามแนวคิด "รัฐนำ ทุกฝ่ายหนุน" โดยมุ่งเน้นสร้างความตระหนักให้ประชาชนในประเทศไทย มีเจตคติว่า ถุงยางอนามัย และถุงอนามัยสตรี เป็นอุปกรณ์สุขอนามัยที่ใช้ในการดำเนินชีวิตตามปกติ (normalize condom use) การส่งเสริมสุขอนามัยทางเพศที่ดี และการป้องกันปัญหาสุขภาพหลายด้านพร้อมๆ กัน เช่น ป้องกันการตั้งครรภ์ ป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งลดความเสี่ยงของมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก

ดร. วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เห็นว่า การมีสุขภาพดี เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDG) โดยให้ความสำคัญกับการ "การร่วมทำงานเป็นภาคี" ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนมีความสำคัญที่จะร่วมสร้างความยั่งยืนของอนาคตของประเทศ เริ่มจากการพัฒนาศักยภาพของวัยรุ่นและเยาวชนอายุระหว่าง 10-24 ปี ที่มีจำนวน 13.2 ล้านคนในขณะนี้และจะลดจำนวนลงอีกเป็น 9.75 ล้านคนในอีก25 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการอยู่กินฉันท์สามีภรรยาของวัยรุ่น การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับมีเพิ่มขึ้น สร้างผลกระทบในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะต้องเป็นกำลังแรงงานที่มีศักยภาพสูงของประเทศเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต การร่วมพัฒนาคุณภาพประชากรโดยภาคธุรกิจเอกชนร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อให้สังคมไทย "ยอมรับ ลดอคติ" ให้วัยรุ่นใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ในงานเสวนาวันนี้ คุณปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับฮอร์โมน 2 และ 3 ได้กล่าวเกี่ยวกับทัศนคติในเรื่องการมีความรักอย่างปลอดภัยว่า เรื่องรักปลอดภัยอยากให้ลองเปลี่ยนทัศนคติโดยมองในแนววิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ควรตัดเรื่องความรู้สึก ดราม่า ไสยศาสตร์ ความเชื่อ ออกไป การที่พ่อแม่หลายคนให้ลูกสวดมนต์ พกยันตรต่างๆ เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัยแต่ไม่ให้พกถุงยาง เราควรจะเปลี่ยนทัศนคติให้ถุงยางเป็นสิ่งที่ "คอมมอน" มากขึ้นทำให้คนกล้าพกถุงยางและเป็นเรื่องปรกติ เพราะในที่สุดแล้วถุงยางคือสิ่งที่ช่วยลูกเราได้จริงๆ ในวันที่เกิดเรื่องฉุกเฉินกับลูกเรา ผมเห็นว่าวัยรุ่นกับความต้องการเป็นของคู่กัน และมักจะมาในวันและโอกาสที่วัยรุ่นไม่สามารถตั้งตัว แล้วสิ่งที่จะคุ้มครองลูกเราได้ไม่ใช่พระเครื่องแต่คือถุงยางอนามัยที่จะทำให้วัยรุ่นปลอดภัยในวันที่เกิดเรื่อง การที่ให้ลูกนึกถึงหน้าแม่ในวันที่ลูกกำลังจะตัดสินใจทำอะไรลงไปเป็นทัศนคติที่ดี แต่ท้ายที่สุดมันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ วันที่กำลังจะเกิดเรื่องไม่ใช่ทุกครั้งที่วัยรุ่นจะนึกถึงหน้าแม่ได้ทุกครั้ง อยากให้เวลาเด็กเข้าไปซื้อถุงยางจะไม่โดนมองด้วยสายตาตัดสิน สายตาตัดสินสำคัญมากทำให้เด็กๆ ไม่กล้าเข้าไปซื้อถุงยาง ซึ่งทัศนคตินี้มีผลมาก และทัศคติแบบนี้เปลี่ยนได้ครับ

การไม่ใช้ถุงยางอนามัยส่งผลการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 445,504 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,816 คน โดยร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน โดยที่ผ่านมามีความท้าทายหลายประการ ทำให้ประเทศไทย ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในการส่งเสริมให้ประชากรซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเห็นได้จากอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในเยาวชน

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าสังคมไทยจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อตอบสนองและแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่ถุงยางอนามัยยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคู่รักอย่างแท้จริง วันนี้ คุณใส่ถุงยางหรือยังค่ะ?

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณกุลวดี สุมาลย์นพ sumalnop@unfpa.org หรือที่เบอร์ 02-687-0130 หรือ 08-1917-5602

ดูภาพงานเสวนา ที่นี่

http://countryoffice.unfpa.org/thailand/?publications=13429 (5 componants of Thailand National Condom Strategy)
http://countryoffice.unfpa.org/thailand/?publications=13432 (ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ 5 ด้าน) 
http://countryoffice.unfpa.org/thailand/?publications=13431 (Fact about Condoms)
http://countryoffice.unfpa.org/thailand/?publications=13430 (ถุงยางอนามัย เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม)

 

ข้อมูลพื้นฐาน
ในปัจจุบันถุงยางอนามัย รวมถึงถุงอนามัยสตรี เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ สนับสนุนว่ามีประสิทธิผลที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งยังใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ ในระยะกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยโดยมีจุดเน้นของการรณรงค์ซึ่งแตกต่างไปตามสถานการณ์ที่เป็นปัญหาของประเทศในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ เช่น เพื่อ การคุมกำเนิดในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นยุคที่ประชาชนไทยมีอัตราการเกิดสูง ระยะต่อมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างปี พ.ศ. 2520 - 2527 และเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี นับแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การใช้ถุงยางอนามัยมีเพื่อป้องกันโรคนั้นมีปริมาณที่ต่ำมากจนเกิดผลให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงปี 2520 - 2530 รวมทั้งเกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างรวดเร็วในช่วงปี พ.ศ. 2532 - 2536 โดยกว่าร้อยละ 90 เกิดจากการแพร่ระบาดทางเพศสัมพันธ์ การรณรงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยเริ่มประสบความสำเร็จในช่วงปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา โดยการดำเนินงานโครงการถุงยางอนามัย 100% ซึ่งเน้นการใช้ถุงยางอนามัยแบบผูกขาดระหว่างพนักงานบริการหญิงและผู้ซื้อบริการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 - 2546 โครงการถุงยางอนามัย 100% สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรกว่า 5 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างชัดเจน

ณ ปัจจุบัน สภาพทางสังคมเปลี่ยนไป การมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสหรือนอกสมรสมีอัตราเพิ่มมากขึ้น และเมื่อทบทวนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในระยะที่ผ่านมาพบว่า การใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือไปจากพนักงานบริการยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร เนื่องจากประชากรกลุ่มดังกล่าวมีการใช้ถุงยางอนามัยในอัตราที่ต่ำ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และยังส่งผลกระทบอื่นๆ ด้วย ในช่วง พ.ศ. 2550 - 2554 พบว่า เยาวชนมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น นอกจากนี้ ยังพบว่าการไม่ใช้ถุงยางอนามัย อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้อัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ในปีพ.ศ. 2555 มีจำนวนผู้ป่วยเอดส์ทั้งสิ้น 376,274 ราย เป็นเพศชาย 255,923 ราย และ เพศหญิง 120,351 ราย มีสัดส่วนชายต่อหญิงเท่ากับ 2 ต่อ 1 แต่ในวัยรุ่น อายุ 10 - 19 ปี พบว่า เพศหญิง มีสัดส่วนสูงกว่าเพศชาย (1.22 ต่อ 1) และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ 97,344 ราย ผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์สูงถึงร้อยละ 84.79 โดยเป็นชายรักต่างเพศ ร้อยละ 59.24 และเป็นหญิงรักต่างเพศ ร้อยละ 25.56 รองลงมาเป็นกลุ่มที่ไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงและอื่นๆ ร้อยละ 6.48 กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดร้อยละ 4.94 กลุ่มที่ติดเชื้อจากมารดา พบร้อยละ 3.77 กลุ่มรับเลือดร้อยละ 0.02 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี มีอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา โดยอัตราป่วยในปี พ.ศ. 2548 เท่ากับ 41.5 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มเป็น 93.4 ในปี พ.ศ. 2555

ดังกล่าวมาแล้วว่า ในปัจจุบัน สภาพทางสังคมที่วัยรุ่นจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ในขณะยังเป็นนักเรียน นักศึกษา และมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยที่ต่ำมาก ทำให้มีอัตราการตั้งครรภ์สูง และส่งผลให้มีการคลอดในวัยรุ่นและการทำแท้งในระดับสูง จากสถิติของกรมอนามัย การทรวงสาธารณสุขพบว่า การคลอดจากวัยรุ่นหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีของประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2555 มีจำนวนสตรีที่คลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 133,176 ราย และมีอัตราการคลอดจากหญิงอายุ 15 - 19 ปี เท่ากับ 53.8 ราย ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 31.1 ราย ในปี พ.ศ. 2543

ดั้งนั้นภาครัฐจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ความร่วมมือ และคำแนะนำจากภาคเอกชนและภาคประชาชนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ถุงอนามัยสตรี และสารหล่อลื่น เพื่อสร้างค่านิยม ความเชื่อ และบรรทัดฐานของสังคมเชิงบวกในเรื่องการมี "รักจริงต้องใส่ใจ รักปลอดภัยต้องใส่ถุงยาง"

ที่มา ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 - 2562 (PDF: http://3c4teen.org/post/1217)